สำนักงานกกต. 7 มี.ค.- “สนธิญา” ร้องกกต.พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย หลัง หน.พรรคโวอดีต “วีรศักดิ์-อบจ.โคราช” ผนึกกำลังแลนสไลด์ พร้อมสอบ “ณัฐวฒิ” ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ได้ร่วมกิจกรรมพรรค
นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีพรรคเพื่อไทยแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 2 ปี 8 เดือน และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในคดีปิดล้อมบ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เข้าดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในพรรคเพื่อไทย โดยนายสนธิญา กล่าวว่า นายณัฐวุฒิซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้ขึ้นปราศรัยในเวทีพรรคเพื่อไทย สนับสนุนผู้สมัครและเปิดเผยนโยบายของพรรค ด้อยค่าบุคคลอื่นแม้กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สบาย ก็นำขึ้นไปกล่าวบนเวที
“การที่พรรคเพื่อไทยนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้นายณัฐวุฒิมีส่วนร่วมในเวทีต่าง ๆ ของพรรค จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (2) ที่ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะฉะนั้นกรณีการที่นายณัฐวุฒิที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไม่มีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง แล้วมีสิทธิอะไรขึ้นไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง” นายสนธิญา กล่าว
นายสนธิญา กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องกรณีที่นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในการปราศรัยใหญ่ที่ จ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า “นี่คือปรากฎการใหม่ของการเมืองที่มีอดีตรัฐมนตรีช่วยวีรศักดิ์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจ.นครราชสีมา และมีพรรคเพื่อไทย รวมเป็นแกนเดียวกัน จะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งแบบแลนสไลด์” ซึ่งปัญหาคือการที่นพ.ชลน่าน ระบุเช่นนี้ นายวีรศักดิ์และอบจ.นครราชสีมา เป็นสมาชิกของพรรเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ระบุว่าห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองพรรคการเมือง และกฎหมายเดียวกันใน มาตรา 29 ระบุว่า ห้ามผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ดังนั้น การกระทำดังกล่าวสามารถนำไปสู่การดำเนินการสั่งยุบพรรคตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92(3) ได้.-สำนักข่าวไทย