กทม. 9 ก.พ.-กกต.ติวเข้มเครือข่ายประชาสัมพันธ์เลือกตั้ง หวังกู้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ ด้าน เลขาฯ กกต. แจงราษฎรที่แบ่งเขต คือคนไทยกับคนต่างชาติที่เข้าเงื่อนไข ไม่ใช่แม่บ้าน แรงงานต่างด้าน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัดเกี่ยวกับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติ กฎหมาย กฎระเบียบที่ปรับปรุง และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาการประชาสัมพันธ์ของภาคีเครือข่าย โดยมีผู้บริหาร พนักงาน ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วมอบรม
นายแสวง กล่าวว่า ใกล้จะมีการเลือกตั้ง นับถอยหลังในแต่ละวัน กกต.มีทำงานน้อยลง แต่ทุกอย่างอยู่ในแผน ยังอยู่บนเส้นทาง อาจจะเร็วกว่าแผนไปด้วยซ้ำ ถือเป็นเรื่องที่ดี กกต. ทำงานตามกฎหมายแต่ว่าเราทำงานแต่ละอย่างออกไปไม่ได้ง่าย ไม่ราบรื่น อย่างสองสามวันที่ผ่านมา มี 2-3 เรื่องที่ต้องอธิบาย เราอาจจะขาดทักษะวิธีการหรือช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน เรื่องราษฎร เรื่องการแบ่งเขต ซึ่งที่จริงเป็นข้อเท็จจริง แต่คนรอบข้างที่เกี่ยวข้องเอาไปอธิบายโดยมีแรงรูงใจทางการเมือง ทำให้คนสำคัญผิดทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายประการ อย่างคำว่า “ราษฎร” เป็นราษฎรตามกฎหมายทะเบียน ซึ่งหลังประกาศจำนวน ส.ส.พึงมีแต่ะจังหวัด ได้เอาจำนวนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศมาคำนวณ แต่การประกาศสองครั้งหลัง มีการแยกผู้มีสัญชาติไทยกับผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกจากกัน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่เกิดปัญหา แต่ครั้งนี้เกิดปัญหาชวนสงสัย
ทั้งนี้ ขอยืนยันสำนักงาน กกต.และ กกต.ทำงานภายใต้กฎหมาย ไม่ได้คิดขึ้นเอง คำว่าราษฎรตามความเข้าใจของคนทั่วไปอาจจะถูก แต่ราษฎรตามกฎหมายที่นำมาใช้ มีคนบอกเอาต่างด้าว แรงงานมาคำนวณด้วย ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ ราษฎรตามกฎหมายทะเบียนราษฎร 1.คนไทยแท้ๆ คือผู้ที่มีเลข 3 นำหน้าในบัตรประจำตัวประชาชน โดยคนที่เป็นราษฎรได้มี 2 ประเภท หนึ่งคนไทย สองคนไม่มีสัญชาติไทย โดยคนไม่มีสัญชาติไทยจะถือเป็นราษฎรมีสองเงื่อนไข ไม่ใช่คนที่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย
นายแสวง กล่าวว่า คนที่เป็นราษฎร หนึ่งต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักทุกคน แต่คนต่างด้าวจะได้รับเลข 13 หลักต้องเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ. บัตรประชาชน และกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็นเรื่องความมั่นคง โดยคนต่างด้าวประเภทนี้ถือเป็นประเภทที่แปด ไม่ถือสัญชาติไทย ได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยโดยถูกกฎหมายและมีใบสำคัญคนต่างด้าวหรือคนที่แปลงสัญชาติ และเงื่อนไขที่สองมีทะเบียนบ้านในประเทศไทย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวที่มาทำงาน แม้จะเข้าเมืองถูกกฎหมายก็จริง แต่ไม่เข้า 2 เงื่อนไข จึงไม่ถือเป็นราษฎร แต่ต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายทะเบียนราษฎร จึงมีสิทธิที่จะได้รับบริการ ทำงานให้บ้านเราเสียภาษี ซึ่งคนกลุ่มนี้นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง
“คนไทยก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ถ้าไม่เข้าเกณฑ์หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ราษฎรมีสองประเภท คือ ราษฎรตามกฎหมาย ไม่ใช่ราษฎรตามความรู้สึกนึกคิดของใคร เรื่องถัดมาเรื่องการแบ่งเขต เราทำตามกฎหมาย ไม่ได้บอกว่าแบ่งเพื่อให้คนพอใจ ยิ่งครั้งนี้เราแบ่งมีเกณฑ์ให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันมากที่สุด เช่น กรุงเทพฯ มี 50 เขตการปกครอง มีเขตเลือกตั้ง 33 เขต เมื่อคำนวณเขตต้องมีการผ่าแขวง เหมือนโคราชก็ต้องผ่าอำเภอ ผู้สมัครในครั้งนี้น่าจะมีการแข่งขันเข้มข้น 5-6 พรรค หวังชัยชนะทุกพรรค ทุกคนมีฐานเสียงตัวเอง เราแบ่งตามกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์ไม่ทราบ จะบอกว่าใครพอใจ ผมตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าเราทำตามกฎหมาย” นายแสวง กล่าว
นายแสวง ยังกล่าวถึงการตั้งคำถามต่อการขอเวลาจัดการเลือกตั้ง 45 วัน ว่าเป็นการขอเวลามากไปหรือขอเพื่อใคร ขอเพื่อช่วยใครนั้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสาขาครบเพียงพอที่จะส่งผู้สมัครครบทุกจังหวัด ย้ำกว่า กกต. คิดเพื่อพรรคการเมือง เพราะไม่มีพรรคใดสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั่วประเทศ และคิดเพื่อประเทศชาติ อยากให้การเลือกตั้งเรียบร้อย สมมติยุบสภา มีกฎหมายยุบสภาเลย หน้างานก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีกฎหมาย กกต.ต้องเดินอีกแบบหนึ่ง มีคนทักท้วงผลการเลือกตั้ง เมื่อรู้ว่าแพ้ อาจจะสร้างความเสียกับชาติ ซึ่ง กกต.ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น และ กกต.คิดเรื่องความพร้อมของพรรคการเมือง การแบ่งเขตจะเกิดขึ้นตามกฎหมาย การแบ่งเขตเหมือนพื้นฐานการแข่งขัน ต้องมีขั้นตอนกระบวนการ ต้องใช้เวลา กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น จึงไม่สามารถแบ่งเขตไว้ก่อน หรือมีกฎหมายแล้วประกาศแบ่งเขตทันที แต่สามารถเร่งขั้นตอนการทำงานในส่วนของ กกต. ขณะนี้เป็นไปตามแผนงานในการประกาศเขตเลือกตั้ง
นายแสวง กล่าวถึงความน่าเชื่อถือของ กกต. ในสายตาของสังคมว่า ความน่าเชื่อถือ บางครั้งเราพูดความจริง คนยังไม่เชื่อถือ คิดว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ซึ่งต้องแก้ไข และเชื่อว่าทำดีอยู่แล้ว แต่ต้องแก้ไขเรื่องการสื่อสารให้ดี กกต. มีบทเรียนหลายเรื่องที่ผ่าน สิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง เราต้องฟังความเห็นจากสังคมนั่ นเรียกว่าการบริหารสังคมที่เปราะบาง มีความหวั่นไหวกับทุกเรื่อง สมมติฐานเกี่ยวกับ ตัว กกต. บางเรื่องทำให้เราทำงานยาก ซึ่งเป็นโจทย์ที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ การอยู่กับสังคมให้ได้รับความน่าเชื่อถือ อันอับแรกต้องทำงานให้ดีก่อน และการสื่อให้ดีขึ้น ส่วนตัวหวังว่าเมื่อทุกคนที่ผ่านการอบรมวันนี้จะนำความรู้ไปใช้เกิดกับ สำนักงาน กกต. จึงอยากจะฝากในเรื่องความน่าเชื่อถือ และอีกเรื่องเป็นแนวโน้มที่ดีคือความร่วมมือ ครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มมีองค์กรต่างๆ ที่เห็นต่างกับ กกต. เข้ามาร่วมงานกับ กกต.มากขึ้นในการจัดการเลือกตั้ง
“เราตกอยู่ในที่นั่งลักษณะนี้ ทำให้เราต้องมาอธิบายเรื่องเหล่านี้ ครั้งแรกคนยังไม่เข้าใจ ทำท่าไม่อยากจะเข้าใจด้วยซ้ำไป เหมือนจะว่าแกล้งโง่ หรือดิสเครดิต หรือไม่เข้าใจจริงๆ ผมก็ไม่ทราบ แต่นี่คือสถานะของเราที่อยู่แบบนี้ ซึ่งผมไม่อยากเป็นหรอก แต่คนเป็นกรรมการ จะเก่งไม่เก่งไม่สำคัญ อย่างแรกต้องน่าเชื่อถือทั้งผู้แข่งขันทั้งกองเชียร์ ถ้ากรรมการไม่เชื่อถือแข่งอะไรก็ไม่สำเร็จ และกรรมการต้องรับผิดชอบเมื่อจบงานเอง เราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ความน่าเชื่ออย่างหนึ่งเกิดจากการทำงานที่ดี แต่เราก็ทำดีอยู่แล้ว” นายแสวง กล่าว.-สำนักข่าวไทย