fbpx

ชัวร์ก่อนแชร์: ดร.โรเบิร์ต มาโลน ย้ำวัคซีนโควิด-19 เป็นอันตราย จริงหรือ?

3 พฤษภาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ


ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ

บทสรุป:


เป็นข้อมูลเท็จที่อ้างโดย โรเบิร์ต มาโลน แพทย์ผู้มีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ทำให้ Spotify ถูกร้องเรียนเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม

ข้อมูลที่ถูกแชร์:

มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดย โรเบิร์ต มาโลน แพทย์ผู้มีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สัมภาษณ์ผ่านรายการพอดแคส The Joe Rogan Experience ทาง Spotify เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2021 จนกระแสของรายการสร้างการโต้ตอบทางสื่อสังคมออนไลน์กว่า 51,000 ครั้ง


จากการตรวจสอบโดย Science Feedback พบว่า เนื้อหาในการให้สัมภาษณ์ตลอด 3 ชั่วโมงล้วนเป็นการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งสิ้น โดยคลิปรายการฉบับเต็มที่อัพโหลดทาง YouTube ถูกลบในภายหลัง

มีนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 270 คน ร่วมกันร่างจดหมายเปิดผนึกไปยัง Spotify เพื่อเรียกร้องให้ Spotify มีมาตรการควบคุมการเผยแพร่ข่าวปลอมให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และวิจารณ์การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ของ โรเบิร์ต มาโลน

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปี 2021 Twitter ได้ระงับบัญชีของ โรเบิร์ต มาโลน เป็นการถาวร ในข้อหาละเมิดนโยบายข้อห้ามด้านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด 19 ผ่านทาง Twitter

FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:

Science Feedback ทำการหักล้างข้อมูลเท็จที่ โรเบิร์ต มาโลน ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Joe Rogan Experience โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังนี้

  1. การบังคับฉีดวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เป็นการละเมิดกฏนูเรมเบิร์กและข้อกำหนดของเบลมอนต์ รีพอร์ตในเวลาเดียวกัน (ข้อมูลเท็จ)

ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาชนิดไหน เป็นวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลอง วัคซีนได้รับการยืนยันถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย

กฏนูเรมเบิร์ก (The Nuremberg Code) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 1947 ระหว่างการไต่สวนแพทย์ผู้เป็นสมาชิกพรรคนาซี ในข้อหาดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับเชลยในค่ายกักกัน ส่วน เบลมอนต์ รีพอร์ต (The Belmont Report) คือรายงานที่ร่างพร้อมกับการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการวิจัยแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อปี 1974 เนื้อหากล่าวถึงหลักจริยธรรมพื้นฐานและข้อกำหนดเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์

วัคซีนโควิด-19 ผ่านการทดสอบด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยในการทดลองทางคลินิก ก่อนจะได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ใช่ยาที่อยู่ในระหว่างการทดลอง การฉีดให้กับประชาชนจึงไม่เป็นการละเมิดกฏนูเรมเบิร์กและเบลมอนต์ รีพอร์ตแต่อย่างใด

  1. มีงานวิจัยพบว่าชาวอเมริกันครึ่งล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ขัดขวางการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น (พิสูจน์ไม่ได้)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าประเทศจีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย ประสบความสำเร็จจากการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะรัฐอุตตรประเทศในอินเดีย ที่อ้างว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ในการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีความน่าเชื่อถืออย่างสูง ไม่พบว่าการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine มีประโยชน์ต่อการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การใช้ยา Ivermectin คือปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐอุตตรประเทศลดลง นอกจากนี้ ราจิบ ดาสกุบตะ นักระบาดวิทยายังชี้แจงต่อเว็บไซต์ The Conversation ว่า ปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียลดลง น่าจะมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและการเกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชากร

โรเบิร์ต มาโลน ยังอ้างว่ายา Ivermectin และ Hydroxychloroquine เป็นหนึ่งในยาที่มีความปลอดภัยสูงที่สุด เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก (Model List of Essential Medicines)

อย่างไรก็ดี สถานะดังกล่าวจะอ้างได้ก็ต่อเมื่อตัวยาถูกใช้อย่างเหมาะสมและในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช้ถูกใช้ในฐานะยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ต่างไม่แนะนำให้ใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด 19 นอกจากเพื่อการทดลองทางคลินิก

  1. มีงานวิจัยกว่า 140 ชิ้นที่ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติมีประสิทธิผลเหนือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (ทำให้เข้าใจผิด)

หนึ่งในงานวิจัยที่ โรเบิร์ต มาโลน ยกมากล่าวอ้าง คืองานวิจัยในประเทศอิสราเอลที่พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน มีโอกาสติดเชื้อและรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสถึง 13 เท่า

อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่กล่าวอ้างยังอยู่ในสถานะงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ และพบว่าเป็นงานวิจัยมีความลำเอียงหลายส่วน เช่น พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีน เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง (ความลำเอียงด้านการเลือกกลุ่มตัวอย่าง) และมีการนำผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ออกไปจากกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ (ความลำเอียงด้านการคัดเลือกผู้รอดชีวิต)

แม้จะพบว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันจากวัคซีน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อในอนาคตทั้งคู่ แต่ความแตกต่างคือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมีความปลอดภัยมากกว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านภูมิคุ้มกันวิทยายังพบว่า ผู้รับเชื้อแต่ละคนจะมีระดับภูมิคุ้มกันธรรมชาติไม่เท่ากัน มีผู้ป่วยบางคนที่หายป่วยจากโควิด-19 โดยที่ร่างกายไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสโควิด 9 เลย และยังเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้ออีกครั้งในเวลาอันสั้น

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นระดับภูมิคุ้มได้อย่างดี ซึ่งหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยังแนะนำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย

  1. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนมากกว่า (ทำให้เข้าใจผิด)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วไปฉีดวัคซีน จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ทั้งหัวใจเต้นผิดปกติ, ความดันโลหิตสูง, โรคลมหลับ, อาการขาอยู่ไม่สุข และอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบในกลุ่มผู้รับวัคซีนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

แม้ข้อมูลจาก U.K. ZOE COVID หน่ายงานวิจัยในสหราชอาณาจักร จะพบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน เมื่อฉีดวัคซีนจะมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์มากว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า แต่อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการรุนแรงเหมือนที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง อาการที่พบบ่อยคือความอ่อนล้า, ปวดศีรษะ, หนาวสั่น, ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ, และการเป็นไข้ และไม่พบรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแม้แต่รายเดียว

ทอม สเปนเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัย King’s College London และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ U.K. ZOE COVID ชี้แจงว่า ถึงแม้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนมากกว่า แต่อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีนได้ดีกว่า และคาดว่าจะได้รับการป้องกันที่ดีกว่า แม้จะฉีดวัคซีนแค่เข็มเดียว

สอดคล้องกับผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ที่พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ระดับแอนติบอดี้จะเทียบเท่าหรือสูงกว่าคนทั่วไปที่ฉีดวัคซีน mRNA ครบ 2 โดส

  1. อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน มีความรุนแรงจนผู้ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โอกาสเกิดสูงถึง 1 ต่อ 2,700 คน (ทำให้เข้าใจผิด)

ข้ออ้างดังกล่าว นำมาจากการศึกษาในฮ่องกงและตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Infectious Diseases ของมหาวิทยาลัย Oxford University เป็นการศึกษาอาการหัวใจอักเสบในเยาวชนอายุ 12 ถึง 17 ปีที่รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง คือโอกาสการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเยาวชนเพศชายหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 เท่านั้น ส่วนอัตราส่วนการเกิดอาการทั้งหมดจะอยู่ที่ 1 ต่อ 5,400 คน

นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังแตกต่างจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง ที่พบว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสัดส่วนเพียง 1.6 ต่อ 100,000 คน สอดคล้องกับผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา, อิสราเอล และเดนมาร์ก ที่พบสัดส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เพียง 0.5 ถึง 5.7 ต่อ 100,000 คน

ส่วนข้ออ้างที่ว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนมีความรุนแรงก็ไม่เป็นความจริง เพราะส่วนใหญ่อาการที่พบจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้ยังพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจมากกว่าการฉีดวัคซีนถึง 5 เท่า

  1. ลิปิดในวัคซีน mRNA จะเข้าไปอยู่ในรังไข่ และจะส่งผลต่อประจำเดือนของสตรี (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จะทำให้การเจริญพันธุ์ของผู้รับวัคซีนมีปัญหา โดยอ้างว่า อนุภาคนาโนของลิปิด ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มและลำเลียง mRNA เข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปอยู่ในรังไข่ของผู้หญิง ซึ่งโอกาสจะเกิดสูงถึง 11%

ข้ออ้างดังกล่าว เป็นการบิดเบือนรายงานที่ Pfizer ส่งไปให้หน่วยงานเภสัชกรรมและเครื่องมือแพทย์ (PMDA) ของประเทศญี่ปุ่นพิจารณา โดยเนื้อหาในรายงานกล่าวถึงการกระจายตัวของอนุภาคนาโนของลิปิดที่พบในเนื้อเยื่อบริเวณต่างๆ ในหนูทดลองที่ฉีดอนุภาคนาโนของลิปิดเข้าร่างกาย โดยพบว่าอนุภาคนาโนของลิปิดส่วนใหญ่จะพบแค่บริเวณที่ฉีดยา และพบการเจือปนที่รังไข่สูงสุดแค่ 0.095% เท่านั้น

แม้จะมีรายงานพบว่า ผู้หญิงหลายคนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีปัญหารอบประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มีอาการเลือดออกระหว่างมีประจำเดือนที่นานกว่า, มากกว่า หรือเจ็บปวดมากกว่าเดิม

ในช่วงแรก ข้อมูลด้านผลกระทบต่อประจำเดือนจากวัคซีนโควิด-19 ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากข้อมูลในระหว่างการทดลองมีจำกัด

กระทั่งเดือนมกราคมปี 2022 ที่ผ่านมา มีการวิจัยที่ตีพิมพ์ทางวารสาร Obstetrics & Gynecology เป็นการศึกษารอบประจำเดือนของผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 4,000 คน โดยใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบภาวะเจริญพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบรอบการมีประจำเดือนระหว่างก่อนและหลังฉีดวัคซีน ผลปรากฏว่าหลังจากฉีดวัคซีน รอบประจำเดือนจะนานกว่าก่อนฉีดวัคซีนด้วยจำนวนเวลาไม่ถึง 1 วัน ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นอกจากนี้ผลการตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนยังยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ในเพศชายและหญิงแต่อย่างใด

  1. โปรตีนหนาม ทั้งจากไวรัส, อะดีโนไวรัส หรือจากวัคซีนล้วนเป็นพิษต่อร่างกาย (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างงานวิจัยที่พบว่า โปรตีนหนามจากวัคซีนโควิด-19 เป็นพิษต่อร่างกาย และนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ทั้ง ลิ่มเลือดอุดตัน, สมองอักเสบ และภาวะภูมิต้านตนเอง เนื่องจากงานวิจัยพบว่าโปรตีนหนามปริมาณมากได้เข้าสู่กระแสเลือดของสัตว์ทดลอง

อย่างไรก็ดี อูริ มานอร์ นักชีวฟิสิกส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยจากสถาบัน Salk Institute และเจ้าของงานวิจัยที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง ชี้แจงผ่านทาง Twitter ว่า ปริมาณโปรตีนหนามที่พบในกระแสเลือดของสัตว์ทดลองเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากวัคซีน ส่วนปริมาณโปรตีนหนามจากวัคซีนที่พบในกระแสเลือดของมนุษย์มีปริมาณน้อยมาก และไม่มีหลักฐานว่าโปรตีนหนามจากวัคซีน mRNA เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

  1. การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ก่อให้เกิดประสิทธิผลลบกับไวรัสโอไมครอน ผู้ฉีดเสี่ยงติดเชื้อยิ่งขึ้นจากภาวะ ADE (ทำให้เข้าใจผิด)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างงานวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก ที่พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนลดลงตามจำนวนการฉีดวัคซีน และยังเชื่อมโยงประสิทธิผลที่ลดลงของวัคซีนกับภาวะ ADE หรือการเร่งโดยอาศัยแอนติบอดี (Antibody-Dependent Enhancement) ปรากฏการณ์ที่แอนติบอดี้ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านไวรัส กลับช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ที่มีอาการ ADE เสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต

อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่กล่าวอ้างเป็นงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ โดย คริสเตียน โฮล์ม แฮนเซน เจ้าของงานวิจัยยืนยันว่า โรเบิร์ต มาโลน ตีความผลวิจัยไม่ถูกต้อง

ที่ผ่านมาไม่พบว่าวัคซีนโควิด 19 ก่อให้เกิดอาการ ADE ตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเสริมสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แม้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง แต่วัคซีนยังสามารถป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 70%

  1. การฉีดวัคซีนซ้ำๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันหยุดทำงาน จากปรากฏการณ์ High Zone Tolerance (ทำให้เข้าใจผิด)

High Zone Tolerance คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันหยุดการตอบสนอง เมื่อตรวจจับแอนติเจนของเชื้อโรคในปริมาณมากและบ่อยเกินไป

มาร์โค คาวาเลรี หัวหน้าฝ่ายวางแผนวัคซีนขององค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) อธิบายผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคมปี 2022 ว่า ปรากฏการณ์ High Zone Tolerance จะเป็นที่น่ากังวลหากว่ามีการกำหนดให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถี่เกินไป เช่นฉีดทุกๆ 4 เดือน

แต่ปัจจุบันยังไม่หลักฐานว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ละโดสตามระยะที่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ High Zone Tolerance แต่อย่างใด ซึ่ง มาร์โค คาวาเลรี ยังย้ำถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมสร้างระดับภูมิคุ้มกัน

  1. ปาเลสไตน์ฉีดวัคซีนน้อยกว่าอิสราเอล แต่อิสราเอลเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า (ข้อมูลเท็จ)

ข้อมูลจาก Our World In Data เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ถึง 3 เข็มในประเทศอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 72%, 66%, และ 56% ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ถึง 3 เข็มในประเทศปาเลสไตน์อยู่ที่ 43% 31% และ 0.1%

แม้อิสราเอลจะมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงกว่าปาเลสไตน์อย่างมาก แต่การอ้างว่าอิสราเอลมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าปาเลสไตน์เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะในช่วงเวลาที่โรเบิร์ต มาโลนกล่าวอ้าง ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนในปาเลสไตน์มีสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตในอิสราเอล

นอกจากนี้ การนำยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ใน 2 ประเทศมาเปรียบเทียบ ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานยืนยันประสิทธิผลของวัคซีนได้ เนื่องจากมีตัวแปรหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ทั้งด้านข้อมูลประชากรและความสามารถในการตรวจหาเชื้อ และการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อ

  1. เชื้อโอไมครอนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง แต่แพร่เชื้อได้ง่ายและสามารถติดได้ทุกคน ไม่ว่าจะสวมหน้ากาก, เว้นระยะห่างทางสังคม หรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม (ขาดบริบท)

แม้ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีผู้ป่วยไม่น้อยที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้วป่วยหนักจนต้องรักษาตัวโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนไม่ให้มองว่าเชื้อโอไมครอนเป็นไวรัสที่ไม่รุนแรง เพราะการติดเชื้อคราวละมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก

แม้เชื้อโอไมครอนจะลดทอนประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน แต่ข้อมูลเบื้องต้นในประเทศแอฟริกาใต้พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ครบ 2 โดส ป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้ถึง 70%

ส่วนสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เปิดเผยรายงานว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยยืดระยะเวลาป้องกันและลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 90%

  1. คนกลัวโควิด 19 จากสภาวะ Mass Formation Psychosis (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน ให้ข้อสรุปในรายการ Joe Rogan Experience ว่า การตื่นกลัวของผู้คนในสังคมระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คือสภาวะที่เรียกว่า Mass Formation Psychosis ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนจำนวนมากถูกชักจูงใช้เชื่อในสิ่งที่อยู่นอกเหนือเหตุและผล โดยเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษที่ 20 และ 30 เมื่อชาวเยอรมันผู้มีการศึกษา ถูกสะกดจิตให้หลงเชื่อผู้นำของชาติ นำไปสู่ยุคแห่งการเรืองอำนาจของนาซี

เจย์ แวน บาเวล รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัย New York University ผู้ศึกษาเรื่องเอกลักษณ์กลุ่มและพฤติกรรมหมู่มากว่า 2 ทศวรรษ ยืนยันว่า Mass Formation Psychosis ไม่จัดว่าเป็นอาการที่มีอยู่จริงในทางวิชาการ

สตีเวน เจย์ ลินน์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Binghamton University ในนิวยอร์ก ชี้แจงว่า การอ้างว่าฝูงชนสามารถถูกล่อลวงและชักจูงให้ไปทางไหนก็ได้ เป็นเพียงความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของวิธีสะกดจิตเท่านั้น

คริส คุกกิ้ง อาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกษ์ มหาวิทยาลัย University of Brighton ชี้แจงว่า แม้จะมีหลักฐานว่า ฝูงชนสามารถถูกโน้มน้าวด้วยพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ความเชื่อที่ว่า คนจำนวนมากสามารถถูกสะกดจิตจนไม่สามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ เป็นแค่ความเชื่อที่ปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน

ข้อมูลอ้างอิง:

https://healthfeedback.org/claimreview/robert-malone-misleading-unsubstantiated-claims-covid-19-safety-efficacy-vaccines-joe-rogan-experience-spotify-podcast/

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ชี้อิสราเอล-อิหร่านส่งสัญญาณหาทางถอยจากสงคราม

เยรูซาเล็ม 19 เม.ย.- สื่ออิสราเอลมองว่า การที่อิหร่านพยายามปฏิเสธว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านวันนี้ไม่ใช่การโจมตีแก้แค้นของอิสราเอล และการที่อิสราเอลยังคงนิ่งเฉยไม่ออกตัวว่าเป็นผู้กระทำ เป็นการส่งสัญญาณว่าทั้ง 2 ฝ่ายกำลังหาทางล่าถอยจากการทำสงครามในขณะที่นานาชาติกดดันให้ใช้ความอดกลั้น เว็บไซต์ไทมส์ออฟอิสราเอลรายงานว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันจากทางการอิสราเอลว่า ได้โจมตีอิหร่านในเช้าวันนี้ ขณะที่สื่อทางการอิหร่านรายงานเพียงว่า มีการเปิดใช้งานระบบป้องกันภัยทางอากาศ และปฏิเสธรายงานข่าวเรื่องมีการโจมตีที่ตั้งทางทหารในเมืองอิสฟาฮาน ที่อยู่ห่างจากกรุงเตหะรานลงไปทางใต้ 315 กิโลเมตร โดยระบุว่าเหตุการณ์ปกติ แต่เจ้าหน้าที่อิสราเอลและสหรัฐที่ขอสงวนนามเผยกับสื่อในสหรัฐว่า เป็นฝีมือของอิสราเอล หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐอ้างแหล่งข่าวอิหร่าน 3 คนว่า ฐานทัพอากาศในเมืองอิสฟาฮานถูกโจมตีแต่ไม่มีข้อมูลเรื่องความเสียหาย ไทมส์ออฟอิสราเอลมองว่า ลักษณะของการโจมตีอย่างจำกัด ซึ่งมีรายงานว่าเป็นการใช้โดรน ไม่ใช่ขีปนาวุธหรือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ประกอบกับการที่อิสราเอลไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการ น่าจะเปิดทางให้รัฐบาลอิหร่านสามารถปฏิเสธเรื่องความจำเป็นที่จะต้องขู่โจมตีอิสราเอลเป็นครั้งที่ 2 หลังจากระดมยิงขีปนาวุธและโดรนมากกว่า 300 ลูกใส่อิสราเอลเมื่อเช้ามืดวันที่ 14 เมษายนตามเวลาอิสราเอล เป็นสัญญาณเบื้องต้นว่า ทั้ง 2 ประเทศอาจกำลังหาทางล่าถอยจากการทำสงคราม ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า อิสราเอลจะแก้แค้นอิหร่านตามที่แสดงท่าทีมาตลอดทั้งสัปดาห์ว่า จะไม่ยอมปล่อยให้อิหร่านโจมตีโดยไม่ตอบโต้ จุดกระแสวิตกว่า การโจมตีตอบโต้กันไปมาจะบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่ากองกำลังป้องกันอิสราเอลได้ลดความุรนแรงของแผนการโจมตีตามที่นานาชาติกดดันให้ใช้ความอดกลั้น.-814.-สำนักข่าวไทย  

ผงะ! พบศพหนุ่มเมียนมาในแท็งก์น้ำ ดาดฟ้าหอพัก

ผงะ! พบศพหนุ่มเมียนมาสภาพเปลือย ในแท็งก์น้ำบนดาดฟ้าหอพัก ย่านมีนบุรี เสียชีวิตมาแล้ว 2 วัน คาดลงไปเล่นน้ำคลายร้อน

ระทึก! สารแอมโมเนียจากโรงน้ำแข็งรั่ว บาดเจ็บนับร้อย

ระทึกกลางดึก สารแอมโมเนียรั่วในโรงน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ชาวบ้านสูดดม ได้รับผลกระทบกว่า 100 คน ต้องกระจายส่งตาม รพ. ต่างๆ

จับแล้ว! ชายอินเดียฆ่าปาดคอหญิงวัย 51 ปี

เกิดเหตุฆ่าปาดคอหญิงอายุ 51 ปี ในโรงแรมท้องที่ สน.ตลาดพลู ผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวอินเดียที่อยู่ด้วยกันในโรงแรม กว่า 1 สัปดาห์ ก่อนหายตัวไปหลังเกิดเหตุ ล่าสุดตามจับได้แล้ว สารภาพอ้างแค้นผู้ตายไม่คืนเงิน

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน-ใต้ พายุฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือ ภาคอีสาน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพฯ-ปริมณฑล อากาศร้อนจัดบางแห่ง โดยมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อย

ยังระดมฉีดน้ำ-โฟม สกัดเพลิงไหม้โกดังสารเคมี

เหตุเพลิงลุกไหม้โกดังเก็บสารเคมี ที่จังหวัดระยอง ผ่านมากว่า 30 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้เพลิงสงบ ขณะที่ล่าสุด จ.ระยอง ประกาศให้พื้นที่ 2 ตำบล เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย

“บิ๊กโจ๊ก” ถอนคำร้องเอาผิด “เศรษฐา” อ้างไม่ติดใจแล้ว

“บิ๊กโจ๊ก” ยื่น ป.ป.ช. ขอถอนคำร้องเอาผิด “นายกฯ เศรษฐา” กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบตาม ม.157 อ้างไม่ติดใจดำเนินคดีแล้ว