กรุงเทพฯ 12 พ.ค.- เริ่มแล้วการประชุมเจ้าหนี้ การบินไทย เช้านี้ แต่ส่อแววเลื่อนโหวต รับแผน หลังเจ้าหนี้ ยังรอเคลียร์หลายประเด็น รวมทั้ง ปัญหาการลดหนี้ ลดทุน ที่ชัดเจน เพื่อให้การบินไทยมีภาระหนี้สอดคล้องกับสภาวะทางการเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเมื่อวานที่ผ่านมา การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงการคลังไม่ได้เสนอเรื่องการพิจารณาให้ บมจ. การบินไทย กลับสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามแนวทางที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ว่าจะให้หน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้นในการบินไทยเพิ่ม และประเด็นการเพิ่มเงินสภาพคล่อง และค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกระทรวงคมนาคมมา
ล่าสุดเช่าวันนี้ เวลาประมาณ 9.00 น. ได้มีการประชุมเจ้าหนี้ การบินไทย ที่จัดโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผ่านการประชุมอิเลกโทรนิกส์ แต่ล่าสุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร บมจ.การบินไทย แจ้งสื่อมวลชนว่า จะมีการแจ้งผลประชุมเจ้าหนี้ ให้สื่อมวลชนทราบ หลังมีการแจ้งผลแก่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว
โดยภาพรวมการประชุมวันนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ แจ้งว่า จากที่ได้มีการประกาศนัดประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เป็นมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้จำนวน 410,140 ล้านบาท เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตามกฎหมายเปิดให้เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ภายใน 7 พ.ค. 2564 ข้อมูล พบว่ามีผู้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูการบินไทยทั้งหมด 15 ฉบับ ซึ่งมีส่วนของเจ้าหนี้ 14 ราย อาทิ กรมศุลกากร, ธนาคารออมสิน, บริษัท จีอี เอ็นจิ้น เซอร์วิสเซส, ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย, เอเอส แอร์ไลน์ 82 (ไอร์แลนด์), บีโอซี เอวิเอชั่น ลิมิเต็ด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ และในส่วนของคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย (ลูกหนี้) ที่นำโดยบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ส่งผลให้การบินไทย ต้องปรับแผนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นสำคัญ ที่คาดว่า จะเป็นจุดสำคัญ ว่าแผนจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ คือประเด็น ประเด็นปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดหนี้ และลดทุน เพื่อให้การบินไทยมีภาระหนี้สอดคล้องกับสภาวะทางการเงิน โดยแผนเสนอให้มีการลดหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยบางส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างทุน รองรับการแปลงหนี้เป็นทุน หรือการเพิ่มทุนจากเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ เมื่อการดำเนินธุรกิจการบินกลับสู่ภาวะปกติ
รวมถึงแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ในการแยกหน่วยธุรกิจ เช่น ครัวการบิน การให้บริการ ภาคพื้นดิน บริการขนส่งทางอากาศและคลังสินค้า และการซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยการบินไทย ตลอดจนแก้ไขอำนาจผู้บริหารแผน อาจพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและร่วมที่มีอยู่ หรือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ให้นักลงทุนที่สนใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน รวมถึงการขายทรัพย์สินส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลัก
อย่างไรก็ตาม การพิจารณา วันนี้ มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการเลื่อนโหวตแผน เนื่องจาก มีเจ้าหนี้หลายรายแสดงความจำนงค์ไว้ รวมทั้งประเด็น ที่เจ้าหนี้ ต้องการให้เกิดความชัดเจนจากรัฐ เรื่องการค้ำประกันเงินกู้ ใส่สภาพคล่อง 50,000 ล้านบาท และการกลับสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนก่อน .-สำนักข่าวไทย