เทกซัส 15 เม.ย. – ลูกเรือหญิงล้วน 6 คน ซึ่งรวมถึงนักร้องชื่อดังอย่าง เคที เพร์รี เดินทางกลับสู่โลกแล้ว หลังนั่งจรวดท่องเที่ยวของบริษัท บลู ออริจิน ขึ้นไปสัมผัสอวกาศ
เคที เพร์รี นักร้องชื่อดังกับลูกเรือหญิงอีก 5 คน ได้แก่ เกย์ล คิง ผู้สื่อข่าวคนดัง, อแมนดา เหวียน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไอชา โบว์ อดีตนักวิทยาศาสตร์ของนาซา ปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัทสเตมบอร์ด (STEMBoard), เครีแอนน์ ฟลินน์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และ ลอเรน ซานเชซ รองประธานกองทุน เบซอส เอิร์ธ ฟันด์ (Bezos Earth Fund) และเป็นคู่หมั้นของ เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัท บลู ออริจิน และแอมะซอน ทั้ง 6 สาวได้ขึ้นไปสัมผัสอวกาศด้วยจรวด “นิว เชพพาร์ด” (New Shepard) ของบริษัท บลู ออริจิน ซึ่งยิงออกจากฐานปล่อยจรวด เวสต์ เท็กซัส เมื่อเวลา 09.31 น. วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 19.30 น. วานนี้ตามเวลาในประเทศไทย
จรวด “นิว เชพาร์ด” ใช้เวลาเพียง 11 นาทีเท่านั้นในการพา 6 สาวข้ามเส้นคาร์มัน (Kármán line) ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกราว 100 กิโลเมตร และเป็นจุดที่ถูกยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่อวกาศชั้นนอก โดยที่จรวดส่วนล่างแยกตัวออกแล้วกลับไปลงจอดได้สำเร็จ ส่วนแคปซูลบริเวณปลายจรวดที่ 6 สาวโดยสารอยู่ ลอยอยู่ในอวกาศชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ลูกเรือสาวทั้ง 6 คนได้สัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักและแรงโน้มถ่วง ร่างกายล่องลอยอยู่ภายในแคปซูลอวกาศ ก่อนที่แคปซูลจะกลับสู่โลก โดยใช้ร่มชูชีพช่วยชะลอความเร็วก่อนที่แคปซูลจะลงจอดกลางทะเลทรายอย่างปลอดภัย

หลังจากกลับสู่โลกแล้ว ลูกเรือสาวทั้ง 6 คนต่างรู้สึกตื้นตันและประทับใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ พวกเธอบอกว่าเป็นประสบการณ์มหัศจรรย์อันมีค่าและสุดแสนจะบรรยาย เคที เพร์รี บอกว่าเธอร้องเพลง “วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิลด์” (What a Wonderful World) ของ หลุยส์ อาร์มสตรองขณะอยู่ในแคปซูล เพื่อแสดงให้เห็นว่าโลกที่เธอมองลงมาจากอวกาศสวยงามขนาดไหน อีกทั้งเธอยังนำดอกเดซี 1 ดอกขึ้นไปบนอวกาศด้วย เพื่อแทนตัวลูกสาวของเธอที่มีชื่อว่า เดซี ส่วน ซานเชส คู่หมั้นของเบซอส บอกว่าทริปนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าโลกเป็นสถานที่ยอดเยี่ยม และทุกคนควรปกป้องและหวงแหนโลกใบนี้
ภารกิจครั้งนี้ถูกเรียกว่า เอ็นเอส-31 (NS-31) นับเป็นเที่ยวบินที่ 11 ของจรวด “นิว เชพาร์ด” ที่พามนุษย์บินผ่านเส้นคาร์มัน โดยบริษัท บลู ออริจิน อ้างว่า จรวดลำนี้ถูกออกแบบมาสำหรับให้มนุษย์โดยสารโดยเฉพาะ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% โดยการบินจะเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด.-815.-สำนักข่าวไทย