แคชเมียร์ 24 เม.ย.- เหตุกลุ่มคนร้ายกราดยิงนักท่องเที่ยวในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียเมื่อ 2 วันก่อน เป็นเหตุร้ายครั้งล่าสุดในภูมิภาคแถบเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นพื้นที่ชนวนสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถานตั้งแต่เมื่อครั้งได้รับเอกราชจากอังกฤษ
แดนสวรรค์เปื้อนเลือด
เมืองพาฮัลกัม (Pahalgam) ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม อากาศเย็นสบาย ห่างออกไปไม่ถึง 5 กิโลเมตรเป็นหุบเขาไบซาราน (Baisaran Valley) ที่มีทุ่งหญ้าบนยอดเขาเขียวขจี รายล้อมไปด้วยป่าสน สวยงามจนได้รับสมญานามว่า มินิสวิตเซอร์แลนด์

แดนสวรรค์แห่งนี้ต้องกลายเป็นแดนเปื้อนเลือด เมื่อกลุ่มคนร้ายกราดยิงใส่กลุ่มนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 22 เมษายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นชาวอินเดีย 25 คน และชาวเนปาล 1 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 คน ตำรวจอินเดียระบุว่า ผู้ต้องสงสัย 2 ใน 3 คน เป็นชาวปากีสถาน
เหตุการณ์นี้เป็นเหตุร้ายครั้งรุนแรงที่สุดของอินเดีย นับจากเหตุกลุ่มติดอาวุธในปากีสถานก่อการร้ายพร้อมกันหลายจุดในนครมุมไบ เมืองหลวงเชิงพาณิชย์ของอินดียเป็นเวลา 4 วันเมื่อวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2551 ครั้งนั้นมีคนถูกสังหารมากถึง 175 คน และคนได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 คน
รู้จักกลุ่มอ้างตัวก่อเหตุ
กลุ่มต่อต้านแคชเมียร์ (Kashmir Resistance) หรือแนวร่วมต่อต้าน (The Resistance Front) หรือทีอาร์เอฟ (TRF) โพสต์สื่อสังคมออนไลน์อ้างตัวว่าเป็นผู้ลงมือ สาเหตุเพราะไม่พอใจที่มี “คนนอก” เข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคนี้มากกว่า 85,000 คน จนลักษณะทางประชากรศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลของ South Asia Terrorism Portal ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการในอินเดียระบุว่า ทีอาร์เอฟปรากฏขึ้นในปี 2562 เชื่อว่าแยกตัวออกมาจากกลุ่มลัชการ์-อี-ไทบา (Lashkar-e-Taiba) หรือแอลอีที (LeT) ในปากีสถานที่ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ จากการก่อเหตุร้ายในอินเดียและชาติตะวันตก รวมถึงการก่อการร้ายที่นครมุมไบในปี 2551 ที่ผ่านมาทีอาร์เอฟไม่ได้ก่อเหตุใหญ่ และก่อเหตุโดยมีอิสระบางประการ แต่ยังคงรับคำสั่งจากแอลอีที
กระทรวงมหาดไทยอินเดียแถลงต่อรัฐสภาในปี 2566 ว่า ทีอาร์เอฟพัวพันกับการวางแผนสังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและพลเรือนในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการรับสมัครสมาชิกติดอาวุธ ลักลอบค้าอาวุธและยาเสพติดข้ามพรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน หน่วยข่าวกรองอินเดียเปิดเผยว่า กลุ่มนี้ได้ใช้การข่มขู่ทางออนไลน์กับกลุ่มสนับสนุนอินเดียตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปากีสถานปฏิเสธว่า ไม่ได้สนับสนุนและให้เงินทุนกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์ โดยให้เพียงกำลังใจและการสนับสนุนทางการทูตเท่านั้น
แคชเมียร์ ดินแดนชนวนสงคราม
แคชเมียร์หรือกัศมีร์ เป็นภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอนุทวีปอินเดีย ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ของ 3 ประเทศ คือ อินเดีย ปากีสถานและจีน โดยเป็นชนวนสงครามอินเดีย-ปากีสถานโดยตรงมาแล้ว 2 ครั้ง
ปมความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังจากอังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในปี 2490 โดยมีการขีดเส้นแบ่งประเทศ ส่วนแคชเมียร์ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่มีผู้ปกครองเป็นมหาราชาฮินดู อังกฤษให้เลือกว่าจะเข้าร่วมกับประเทศใดประเทศหนึ่งหรือคงความเป็นเอกราช มหาราชาได้ตัดสินใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย เนื่องจากถูกกลุ่มชนเผ่าในปากีสถานบุกรุกและประชาชนก่อกบฏ นำมาซึ่งสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งแรก สหประชาชาติเข้าไกล่เกลี่ยจนกระทั่งมีการหยุดยิงในปี 2492 และมีการแบ่งแคชเมียร์ โดยให้อินเดียปกครอง 2 ใน 3 ส่วน ประกอบด้วยหุบเขาแคชเมียร์ จัมมู และลาดักห์ ส่วนปากีสถานปกครอง 1 ใน 3 ประกอบด้วยอะซัด แคชเมียร์และกิลกัต-บัลติสถาน ต่อมาในช่วงที่จีนและอินเดียทำสงครามเป็นเวลา 1 เดือน ในปี 2505 จีนได้ยึดครองพื้นที่ที่ส่วนใหญ่ไม่มีคนอยู่อาศัย
อินเดียและปากีสถานทำสงครามใหญ่แย่งชิงแคชเมียร์อีกครั้งในปี 2508 แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานภาพของดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด ส่วนการทำสงครามครั้งที่ 3 ระหว่างอินเดียและปากีสถานในปี 2514 นำมาซึ่งการตั้งประเทศบังกลาเทศ
แคชเมียร์ในส่วนของอินเดียมีประชากร 7 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 70 เป็นมุสลิม กลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชหรือต้องการรวมกับปากีสถานเริ่มเคลื่อนไหวก่อเหตุไม่สงบในแคชเมียร์ส่วนของอินเดียตั้งแต่ปี 2532 อินเดียตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหารจำนวนมากไปปราบปราม และมีคนล้มตายมากมาย อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่า ให้อาวุธและให้การฝึกฝนกลุ่มติดอาวุธ แต่ปากีสถานปฏิเสธ
เปลี่ยนดินแดนขัดแย้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ปี 2562 รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีและพรรคภารติยะชนตะที่ปกครองอินเดียมาตั้งแต่ปี 2557 ได้ยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญก่อตั้งประเทศที่ให้สถานภาพปกครองตนเองแก่ดินแดนแห่งนี้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้แคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น
ทางการอินเดียอ้างว่า สถานการณ์ความรุนแรงในแคชเมียร์เบาบางลงในช่วงหลายปีมานี้ มีการก่อเหตุร้ายขนาดใหญ่น้อยลง และมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนมากขึ้น รัฐบาลโมดีชูเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ว่า สามารถนำสันติภาพและการพัฒนามาสู่ดินแดนแห่งนี้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีรายงานเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและพลเรือนถูกสังหาร
ผลพวงจากเหตุการณ์ร้ายล่าสุด
ทางการอินเดียปิดเมืองพาฮัลกัมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน หนึ่งวันหลังเกิดเหตุร้าย นอกจากนี้ยังได้ประกาศมาตรการหลายอย่างเพื่อลดระดับความสัมพันธ์กับปากีสถาน เช่น ระงับการใช้สนธิสัญญาแม่น้ำสินธุปี 2503 (Indus Waters Treaty) ที่กำหนดการใช้แม่น้ำร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ปากีสถานที่อยู่ปลายน้ำได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการชลประทาน
อินเดียยังได้ปิดด่านข้ามแดนทางบกระหว่าง 2 ประเทศที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว และกำหนดให้ผู้ที่ข้ามมาในอินเดียแล้วต้องกลับออกไปก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม ประกาศให้ที่ปรึกษาด้านกลาโหมทั้งหมดในคณะข้าหลวงใหญ่ปากีสถานประจำอินเดียเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา และต้องออกจากอินเดียภายใน 1 สัปดาห์ ขณะเดียวกันอินเดียจะเรียกตัวคณะที่ปรึกษาด้านกลาโหมในปากีสถานกลับประเทศ และลดจำนวนคณะข้าหลวงใหญ่อินเดียประจำปากีสถานจาก 55 คน ลงเหลือ 30 คน นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านปากีสถานในหลายพื้นที่ของอินเดีย
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้เรียกประชุมทุกพรรคการเมืองรวมทั้งพรรคฝ่ายค้านในวันนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเชบาซ ชารีฟของปากีสถานได้เรียกประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติในเช้าวันนี้ หลังจากอินเดียประกาศมาตรการกับปากีสถาน
Final Thought: จนถึงขณะนี้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจบานปลาย แนวโน้มขึ้นกับว่า แต่ละฝ่ายจะใช้มาตรการตอบโต้กันอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศที่ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองยังไม่สามารถใช้วิถีทางทางการทูตในการแก้ไขความขัดแย้งที่ดำเนินมาร่วม 80 ปี และปะทุขึ้นเป็นครั้งคราว จนกว่าจะมีทางออกที่ยั่งยืน.-814.-สำนักข่าวไทย