กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – DBS ประเมินนโยบาย “ทรัมป์” จุดชนวนสงครามการค้าครั้งใหญ่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ แนะปรับพอร์ตลงทุนแบบ “บาร์เบล” เน้นลงทุนเสี่ยงสูงเกาะกระแสนโยบายเศรษฐกิจ “ทรัมป์” และลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยสูง เน้นพันธบัตร-ทองคำ พร้อมปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นสหรัฐ ลดน้ำหนักหุ้นยุโรป ชี้ DBS ในประเทศไทย ตั้งเป้า AUM โต 1 แสนล้านบาทภายในปี 69
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เชิญ CIO (Chief Investment Office, DBS Bank) ให้ข้อมูลในงาน DBS 1H25 CIO Market Outlook –“GAME CHANGERS” โดยนายเอ็ดวิน ตัน Market Head DBS, Thailand & Philippines, DBS Bank กล่าวว่า เริ่มต้นปี 2568 มีการคาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับปานกลางแต่มีเสถียรภาพในหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงเผชิญกับปัจจัยพลิกเกมที่อาจกำหนดทิศทางในช่วงเดือนข้างหน้า ด้านหนึ่ง การกลับมาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งสัญญาณถึงสงครามการค้าระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยมาตรการทางภาษี และยิ่งซ้ำเติมความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่ ขณะที่แนวโน้มการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบในอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ประกอบกับวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเป็นปัจจัยเสริมให้ตลาดและเศรษฐกิจเติบโตได้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า “เกมเปลี่ยน (Game Changers)” เป็นธีมที่เหมาะสมสำหรับแนวโน้มตลาดครั้งแรกของปีนี้
คำแนะนำสำคัญจากทีม CIO ให้ไว้เมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มจากการแนะนำให้ลูกค้าลงทุนใน I.D.E.A. companies – Innovators, Disruptors, Enablers, Adapters แม้ว่าหลายฝ่ายจะกังวลว่าการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอาจซ้ำรอยฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000 ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ คำแนะนำให้ Overweight ในตราสารหนี้ที่มีเครดิตดียังคงให้ผลตอบแทนที่ดี แม้ว่าสัญญาณของเฟดจะมีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาของทรัมป์ ตั้งแต่ต้นปี เราแนะนำให้ลูกค้าใช้กลยุทธ์ Liquid+ โดยให้ความสำคัญกับตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนระยะสั้นที่มีคุณภาพสูงเป็นทางเลือกแทนเงินสด
นอกจากนี้ แนวโน้มตลาดทองคำที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปียังเป็นไปตามคาด โดยทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาแม้ว่าความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ แต่กลยุทธ์ Barbell อยู่ในกลุ่ม Top 5% ของกองทุนแบบ Balanced Funds ทั่วโลกกว่า 200 กองทุน นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 5 ปีก่อน และให้ผลตอบแทนสุทธิ 12% ในปี 2567
สำหรับธุรกิจไพรเวทแบงก์ของ DBS ในประเทศไทย วางเป้าหมายการเติบโต AUM ที่ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2569 โดย ณ เดือนธันวาคม 2567 AUM ได้เติบโตเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 35% นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มจำนวน Relationship Managers (RM) เป็นสองเท่า ซึ่งปัจจุบัน ได้เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 20%
และอุตสาหกรรมบริหารความมั่งคั่งของประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านการวางแผนความมั่งคั่ง (Wealth Planning), การกระจายการลงทุน (Investment Diversification) และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (International Banking) เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันในตลาดไพรเวทแบงก์ก็ทวีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อลูกค้า DBS มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และรายใหญ่พิเศษ (UHNW) ผ่านบริการ “One-Stop” ด้วยข้อเสนอบริการแบบครบวงจรทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นรายแรกในตลาด ซึ่งได้มอบประสบการณ์การทำธุรกรรมที่ไร้รอยต่อระหว่างบัญชีในประเทศและต่างประเทศผ่านจุดให้บริการเดียว และยังสามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของลูกค้าผ่านโมเดล “One Bank” ที่เป็นเอกสิทธิ์ของดีบีเอส ปัจจุบันมีการระดมทุนสองดีลที่กำลังดำเนินการอยู่ และอีกสองดีลอยู่ระหว่างรอดำเนินการ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และโอกาสที่น่าสนใจที่มีต่อลูกค้า
นายเวย์ ฟุก โหว Chief Investment Office, DBS Bank กล่าวว่าในปี 2568 สภาพภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกยังคงมีความซับซ้อน และละเอียดอ่อนอย่างที่เป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ารับตำแหน่งในวาระที่สองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุน และสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และด้วยชัยชนะของพรรครีพับลิกันทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การบริหารงานของทรัมป์จะมีอำนาจเต็มที่ในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ และความมั่นคงทางชายแดน ซึ่งจากนโยบายต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจไม่เกิดขึ้น ในทางกลับกัน เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่ทรัมป์มุ่งมั่นทำตามคำมั่นสัญญาด้านนโยบาย เช่น การลดภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะความยั่งยืนทางการคลัง และการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ที่กระตุ้นให้เกิดสงครามทางการค้า ท่ามกลางความย้อนแย้งของนโยบายการคลังที่ขยายตัว และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488418/1739435550_101821-tnamcot-1024x587.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488418/1739435550_104565-tnamcot-1024x586.jpg)
DBS เชื่อว่าการใช้กลยุทธ์การจัดสรรพอร์ตแบบ “บาร์เบล” (Barbell Strategy) จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะช่วยกระจายการลงทุนในสองส่วนได้แก่ (1) การลงทุนในภาคส่วนที่มีความผันผวนสูง (High Beta Sectors) เพื่อเกาะกระแสนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ และ (2) การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง (Defensive Assets) เพื่อลดความเสี่ยง และปกป้องพอร์ตจากผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์
นายเวย์ ฟุก โหว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการขยายตัวภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ ทาง DBS แนะนำให้ปรับสถานะการลงทุนในหุ้นทั่วโลกจาก “Underweight” เป็น “Neutral” อย่างไรก็ตาม เรายังคงให้คงน้ำหนักในหุ้นสหรัฐฯในระดับ “Overweight” เนื่องจากนโยบายการลดภาษีจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทั้งนี้ DBS ยังคงมีความเชื่อมั่นบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีค่าเบต้าสูงถึง 1.4 เท่าของตลาดหุ้นโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีจากนโยบายการลดภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบ
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ทาง DBS จึงให้น้ำหนักลงทุน “Overweight” ในตราสารหนี้ (Fixed Income) เนื่องจากช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลง หากความตึงเครียดทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้นโดยผลตอบแทนจากพันธบัตรในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจโดยเฉพาะเมื่อพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนที่กลับมาระดับ 4.4% ต่อปี
ส่วนของการลงทุนหุ้นยุโรปทาง DBS ให้น้ำหนักการลงทุนในระดับ “Underweight” เนื่องจากคาดว่าหุ้นยุโรปจะให้ผลตอบแทนที่ด้อยกว่าหุ้นสหรัฐฯ จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกจีนต้องเปลี่ยนเส้นทางการค้าของตนไปยังตลาดที่ไม่ใช่สหรัฐฯยังผลให้การแข่งขันในตลาดการค้านอกสหรัฐฯจะรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ DBS คาดว่ามูลค่าของสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2568 จะได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยต่อไปนี้
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เข้าสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถรักษาอัตรากำไรได้ดี ความมั่งคั่งสุทธิของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และหนี้สินของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 71% ของ GDP สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่ง
ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับจุดเด่นของการลงทุนสำหรับไตรมาส 1 ปี 2568 ได้แก่การลงทุนในสินทรัพย์ผสม พันธบัตรยังคงน่าสนใจ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายมหภาค การลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของ Fed และ ECB คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ BOJ ยังคงดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความยืดหยุ่น ขณะที่การเติบโตในยุโรปยังคงอ่อนแอจากการส่งออกที่ชะลอตัว และคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐบาลจีนเพื่อยกระดับการบริโภคในประเทศ
หุ้นสหรัฐฯ ยังโดดเด่น มากกว่าหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจากอัตรากำไรของบริษัทที่สูง การเติบโตภายในประเทศที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น มีการลงทุนในโครงสร้างของ AI อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแรงสนับสนุนจากนโยบายแบบขยายตัวภายใต้การดำเนินงานของทรัมป์ ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนยังจะคงได้รับผลประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย และนโยบาย China+1
เครดิต คาดว่าการผ่อนคลายนโยบายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การลงทุนในพันธบัตร A/BBB ที่มีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีที่สุด จากภาวะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่แคบลง (Tighten credit spread) จึงแนะนำให้ “Overweight” ในตลาดตราสารหนี้อายุ 2-3 ปี และ 7-10 ปี เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนในอนาคต และยังคงได้รับผลประโยชน์จากลดลงของส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน
อัตราดอกเบี้ย คาดว่า Fed จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย แต่แนวโน้มจะไม่มากนัก ภายใต้การดำเนินงานของทรัมป์
สกุลเงิน ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งจากแนวโน้มของดอกเบี้ยที่ต่ำลง ขณะที่ยูโรและหยวนจะความมีอ่อนไหวเพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า
สินทรัพย์ทางเลือก ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อทองคำจากการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ควรเน้นกลยุทธ์พอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานสินทรัพย์ทั้งในตลาดและนอกตลาด โดยใช้กองทุนกึ่งสภาพคล่องในสินทรัพย์นอกตลาด (Semi-liquid Asset) เพื่อการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ
สินค้าโภคภัณฑ์ ยังมีความผันผวนต่อไปในระยะสั้น จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความต้องการสำหรับโลหะอุตสาหกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะที่วาระความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐฯ อาจกดดันราคาน้ำมัน คาดว่าราคาของกาแฟและโกโก้ยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าสินค้าโภคภัณฑ์อื่น เนื่องจากความต้องการทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่งแม้จะมีอุปสรรคด้านอุปทาน
Thematic focus การลงทุนในธุรกิจกีฬามีการเติบโตอย่างรวดเร็วในการถ่ายทอดสดกีฬาประเภทต่างๆกระจายไปถึงความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นสำหรับกีฬาผู้หญิงและเยาวชน รวมถึงการแข่งขันอีสปอร์ต ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้ ได้แก่: (i) ธุรกิจการวิเคราะห์ทางด้านกีฬา, (ii) ธุรกิจการสตรีมมิ่ง, (iii) ธุรกิจการขายตั๋ว, และ (iv) ธุรกิจเกมกีฬา.-516-สำนักข่าวไทย