กรุงเทพฯ 17 ม.ค.-นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน ห่วงครึ่งหลังปี 68 ต้องฟันฝ่าหลายปัจจัยเสี่ยง ย้ำจีนยังสนใจท่องเที่ยวไทย ห่วง P/B Ratio ของบริษัทจดทะเบียนยังเปราะบาง ไทยเผชิญความท้าทายรุนแรงขึ้น ลุ้นอภินิหาร “ทรัมป์” ประกาศนโยบาย 20 ม.ค.นี้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยระหว่างร่วมงานสัมมนา “CIO Forum 2025 : Reshaping Investment Paradigm” คาดว่า จีดีพีไตรมาส 4 ปี 67 ยังมีแรงส่งดีต่อเนื่อง และส่งต่อมายังต้นปี 68 จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 68 จะเติบโต 2.3 – 3.3% จากแรงขับเคลื่อนรายจ่ายภาครัฐ อุปสงค์ในประเทศขยายตัวจากการท่องเที่ยว สำหรับเหตุการนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยชะงักลง มองว่าเป็นเพียงระยะสั้น เพราะแนวโน้มจีนยังสนใจมาท่องเที่ยวไทย แม้จะมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย เมื่อรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา จะสร้างความเชื่อมั่น เพราะจีนยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก ทำรายได้เข้าประเทศ
รวมทั้งการส่งออกคาดว่าขยายตัวต่อเนื่อง ลุ้นความเสี่ยงนโยบายของทรัมป์ หากยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้า จึงต้องเตรียมพร้อมผลรับกระทบดังกล่าว มองว่า ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ จะเข้าใกล้ประเทศไทย ครึ่งปีหลังจึงน่าเป็นห่วงและบริหารการส่งออกให้ดี สำหรับนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ มองว่า ดอกเบี้ยอาจเริ่มลดลง หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลง ส่วนภาคอสังหาฯ ของไทยชะลอตัว จากการความต้องการลดลง และปล่อยกู้ได้น้อย แต่การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยังไปได้ต่อ ดัชนีผลผลิตอุตสหากรรมลดลง เพราะกลุ่มยานยนต์ได้รับผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน โดยในวันที่ 17 ก.พ.68 สภาพัฒน์ เตรียมประกาศ จีดีพีไตรมาส 4 และคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 68 หลังได้ดูนโยบาย ทรัมป์ ประกาศในวันเข้ารับตำแหน่ง 20 ม.ค.นี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร ยานยนต์ไฟฟ้า ยังเป็นทางเลือกที่สำคัญ ขณะที่ซัลพลายเชน อาจต้องปรับเปลี่ยนไปทำอุตหสากรรมด้านอื่นทดแทน
หากรัฐบาลต้องการผลักดันจีดีพีโตร้อยละ 4-5 ในระยะถัดไป ต้องผลักดันไปสู่นวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะการนำ AI เข้ามาช่วย การนำอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายมาปรับโครงสร้าง อุตสหากรรมยานยนต์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น อาหารแห่งอนาคต อาหารดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ต้องดึงเข้ามาลงทุน พร้อมกับแรงจูงใจ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องมีความสำคัญมากขึ้น หลังจากได้รัฐบาลได้ออกภาษี GMT การยกระดับแรงงาน สายวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ชีพดีไซน์ ในช่วงถัดไปแรงงานส่วนนี้จะช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปีนี้ถือว่า มีความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยภาคการเงินเผชิญกับความท้าทาย จากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำ และความเสี่ยงด้านหนี้เสีย ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทำให้ธนาคารต้องช่วยเหลือลูกหนี้ร่วมกับภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติม เช่น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดย กกร. คาดการณ์ว่าจีดีพีในปี 68 ขยายตัวร้อยละ 2.4-2.9 ขณะที่ ธ.กรุงไทย มองว่าจีดีพีโตร้อยละ 2.7 ส่วน IMF มองว่า จีดีพีไทยโตเฉลี่ยโตร้อยละ 2.7 ต่ำกว่าศักยภาพของไทย ทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออก การให้สินเชื่อขยายตัวต่ำ ยอดหนี้ NPL ยังอยู่ในระดับสูง จึงกระทบต่อลูกค้าของธนาคารอย่างมาก
ยอมรับในมุมมองของนักลงทุนยังสะท้อนถึงความเปราะบาง โดย P/B Ratio ของธนาคาร อยู่ที่ 0.7 นับยังคงต่ำกว่า 1 ต่อเนื่อง รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ฯ(SET) ที่ 1.4 และต่ำกว่าธนาคารในภูมิภาคอื่นๆ อย่างมาก ขณะที่สัดส่วน 60% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมดใน SET มี P/B Ratio ต่ำกว่า 1 เช่นกัน เพราะราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่าราคาตามบัญชี ปีมะเส็งจึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก นับว่าประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทาอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น จากทั้ง Global Regional และ National เมกะเทรนด์หลายประการ เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยี และสังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจนอกระบบสูง หนี้ครัวเรือนสูง หนี้สาธารณะสูง ความเหลื่อมล้ำสูง ล่าสุดคือ ปัจจัย Trump Impact ทำให้ความสามารถการแข่งขันต่ำ ease of doing business ปัจจัยเหล่านี้ อาจนำไปสู่จุดเปลี่ยน หรือ Inflection Point ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ
“ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัว เตรียมพร้อมพัฒนากลยุทธ์ และผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจ และโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกมิติของการลงทุน การจัดงานสัมมนา “Reshaping Investment Paradigm” เปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งการลงทุน เพื่อให้ลูกค้า ประชาชนได้รับทราบถึงทิศทางเศรษฐกิจ การลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลที่รอบด้านเพียงพอ และทันต่อสถานการณ์ในการวางแผนและรักษาความมั่งคั่งของพอร์ตลงทุนอย่างยั่งยืน” นายผง กล่าว
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยทิศทางของสงครามการค้าว่า สงครามการค้ารอบใหม่ หรือ Trade War 2.0 แตกต่างจาก Trade War รอบแรก ”ทรัมป์“ มีแนวโน้มกีดกันทางการค้ากับทุกประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย ต่างจากรอบแรกที่เน้นการเก็บภาษีไปยังจีน ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า จะรุนแรง รวดเร็ว อย่างไร เพราะ ”ทรัมป์“ มักจะขู่ให้หลายประเทศเข้าไปเจรจา แต่สุดท้ายหลายประเทศเจ็บตัวอยู่ดี และต้องการฟื้นโรงงานอุตสหากรรมหลับไปยังอเมริกา ไม่ใช่นั่งอยู่เพียงในห้องแล็ป ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ระบุว่า ต้องการเปลี่ยนรายได้จากเดิมเก็บภาษีของชาวสหรัฐ เปลี่ยนมาเป็นภาษีนำเข้าแทน และส่งสัญญาณให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลกรับทราบว่า หากต้องการขายของให้สหรัฐต้องย้ายโรงงานเข้าผลิตในอเมริกา ขณะที่จีน ไม่ได้หวังกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย เพียงแต่ประคองให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไปได้
ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย กล่าว ว่า สงครามการค้า สหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า มองว่าไม่ได้ส่งผลเสียกับจีนมากเท่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ จากการกรณีจีน ได้ Relocation การผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จึงส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไปด้วย ดังนั้น สงครามการค้ารอบนี้มีโอกาส ”ทรัมป์“ จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า และทำให้ผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและคู่ค้าหลัก อาจสูงกว่าในรอบก่อน ผลกระทบครั้งนี้กระทบเชิงลบมากว่าสงครามการค้าครั้งแรก จากประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐ
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting ให้มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ว่า เป็นการปฎิวัติยุคใหม่ โดยเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการกำเนิดของระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม และการปฎิวัติ AI นี้ต่างจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งก่อนๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ AI นั้นมาพร้อมกับการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถไปพร้อมกัน แนวโน้มชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ หลายคนจะเริ่มใช้ AI มาใช้คำนวณ ปรับปรุงออกแบบด้านต่างๆ ได้ตามความต้องการของตนเองได้มากขึ้น ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยว การใช้จ่าย
นายประมุข มาลาสิทธิ์ Head of Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย และ Mr. Matthew Quaife Global Head of Multi Asset Investment Management จาก Fidelity International ได้ให้มุมมองการลงทุน ปี 2025 โดยมี 6 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น เงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่าง ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่กลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบาง และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน สำหรับมุมมอง ตลาดหุ้นทั่วโลก มองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน และอินเดีย ด้านตราสารหนี้ มีมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) บอนด์ยีลด์ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ตราสารหนี้ High Yield ของสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนยุโรปยังน่าสนใจ ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ มองว่า ราคาทองคำอาจทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกรอบ มีปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่งตลอดปี 2025.-515.-สำนักข่าวไทย