กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – SET Index สิ้นปี 2567 ปรับลงเพียง 1.1% “อัสสเดช” จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 ส่งผล Fund Flow ประสาน ก.ล.ต. หาแนวทางเปิดเผยข้อมูลจำนำหุ้น หลังเกิด Forced Sell บ่อยครั้ง เชื่อมาตรการ Easy-E-Reciept ส่งผลดีกลุ่มค้าปลีก
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนธันวาคม 2567 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม SET Index ปิดที่ 1,400.21 จุด ทำให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 7.6% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 SET Index ปรับลดลงเพียง 1.1% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 40,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่ในปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,551 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นสัญญาณเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด สามเดือนต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. โรงพยาบาลนครธน (NKT) และ ใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. อินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF)
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า ขณะที่ อัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 3.45% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.17%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนธันวาคม 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 538,570 สัญญา เพิ่มขึ้น 10.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 483,772 สัญญา ลดลง 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
นายศรพล กล่าวต่อว่า SET Index ในปี 2567 ปิดในระดับที่แทบไม่แตกต่างจากปีก่อนหน้า โดยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และปี 2568 ยังสามารถขยายตัวได้ดี นำโดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่อาจเผชิญความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility” โดยแบ่งนโยบายออกเป็น 2 กลุ่มหลัก รวม 11 นโยบาย ซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อหุ้นในหลาย Sector ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ของโลกในปี 2568 ลงเล็กน้อย จากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแยกตัวทางเศรษฐกิจ (Decoupling) อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความผันผวนและการเติบโตช้าลง สอดคล้องกับมุมมองธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ประชุมเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2567 แม้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% แต่ส่งสัญญาณว่าในปี 2568 การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจจะไม่ง่ายนัก ทำให้ตลาดหุ้นกลับตอบสนองในเชิงลบในระยะสั้น
สำหรับคาดการณ์ภาวะตลาดทุนไทยช่วงต้นปีนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจไทย รวมถึงความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศในระยะยาว แต่ยังมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลต่อการลงทุน หากไทยได้รับอานิสงค์ในการลงทุนบางส่วนก็จะช่วยหนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังมีนโยบายของ “ทรัมป์” ที่ส่งผลกระทบเชิงบวก ด้านการย้ายฐานการการผลิตในภูมิภาคทั้งจากสหรัฐฯและจีน แต่สิ่งน่ากังวลคือ “ทรัมป์” ไม่ได้สนับสนุนนโยบายด้าน ‘สีเขียว’ ในภูมิภาค เชื่อว่าหากนโยบายของ “ทรัมป์” มีความชัดเจนจะช่วยดึงเงินทุนไหลกลับเข้าประเทศมากขึ้น พร้อมย้ำว่านักลงทุนยังต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง มีความความระมัดระวัง และติดตามข่าวสารก่อนตัดสินใจลงทุน
ส่วนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย Easy-E-Reciept มองว่าจะช่วยดึงการซื้อขายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อและร้านค้า เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไม่ได้ใช้งบประมาณภาครัฐมากนัก และจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกอีกด้วย
ด้านนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ต้องติดตามการประกาศนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ว่าที่ประธานธิบดีสหรัฐ ที่กำลังจะก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ว่าจะส่งผลอย่างไร แต่เมื่อดูจากครั้งรับตำแหน่งสมัยแรก พบว่ามีการเคลื่อนย้ายนเงินทุนกว่า 1.2 แสนล้านดอลล่าสหรัฐ โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนที่ไหลเข้าไทยประมาณ 10% ดังนั้นจึงต้องรอดูว่ารอบนี้ไทยจะสามารถดึงเม็ดเงิน เข้ามาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินทุกแนวทางเพื่อให้ตลาดทุนมีความน่าสนใจและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนนำหุ้นไปจำนำ และเกิดปัญหาถูกบังคับขาย (Forced Sell) มาอย่างต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาถึงแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้น เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบข้อมุลและใช้ประกอบในการตัดสินใจในการลงทุน.-516-สำนักข่าวไทย