กรุงเทพฯ 7 ม.ค. – กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการเจาะชั้นบรรยากาศระบายฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้ฐานปฏิบัติการ 3 แห่ง บินตรงสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน โดยวันนี้ขึ้นบินปฏิบัติการ 2 ครั้ง เนื่องจากปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสามารถลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ลงได้
นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการโดยใช้เทคนิคลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันด้วยการสเปรย์น้ำซึ่งผสมน้ำแข็งเพื่อปรับลดอุณหภูมิ ซึ่งจะทำให้เกิดช่องในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลระบายผ่านช่องบรรยากาศขึ้นไปได้ โดยวันนี้ขึ้นบินปฏิบัติการ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย หลังปฏิบัติการ ผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นสะสมลดลง
สำหรับฐานปฏิบัติการที่ใช้ส่งอากาศยานขึ้นบินเข้ามาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ ฐานปฏิบัติการที่จังหวัดกาญจนบุรี ระยอง และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยขึ้นอยู่กับทิศทางลม ปีนี้เป็นปีแรกที่กรมฝนหลวงฯ สามารถบินเข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ชั้นในได้ โดยได้รับอนุญาตจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงฯ ต้องส่งพิกัดและระดับความสูงที่จะปฏิบัติการล่วงหน้า เมื่อได้รับอนุญาตจากวิทยุการบินจึงบินเข้ามาปฏิบัติการได้ โดยวิทยุการบินจะกำหนดชั้นความสูงที่เครื่องบินฝนหลวงสามารถบินได้และไม่กระทบต่อเส้นทางเดินอากาศของเครื่องบินพาณิชย์
ส่วนน้ำแข็งแห้งที่ได้รับมอบจากกรุงเทพมหานครจะนำมาใช้ในปฏิบัติการเจาะชั้นบรรยากาศ โดยน้ำแข็งแห้งสามารถลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการสเปรย์น้ำผสมน้ำแข็ง ขึ้นบินเพียงครั้งเดียวก็สามารถเจาะช่องชั้นบรรยากาศได้
รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการสะสมของฝุ่น PM2.5 มากอีกพื้นที่คือ ภาคเหนือซึ่งใช้ฐานปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่และแพร่ โดยในฤดูแล้งนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศต่ำ การปฏิบัติการทำฝนหลวงจึงทำให้เกิดฝนตกลงมาได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์ของกรมฝนหลวงฯ ได้พัฒนาเทคนิคลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ซึ่งสามารถเจาะช่องชั้นบรรยากาศสำหรับระบายฝุ่นขึ้นมาเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ด้าน GISTDA รายงานพบจุดความร้อนซึ่งตรวจพบโดยดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ VIIRS และจากข้อมูลดาวเทียมดวงอื่นๆ วานนี้ (6 ม.ค.) ทั่วประเทศพบ 450 จุด โดยเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 152 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 95 จุด พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่น ๆ 75 จุด พื้นที่เขต สปก. 70 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 52 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 6 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ ลพบุรี 54 จุด ขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่กัมพูชา 1,585 จุด เวียดนาม 478 จุด ลาว 181 จุด เมียนมา 95 จุด และมาเลเซีย 7 จุด
ทั้งนี้ GISTDA ยังคงติดตาม วิเคราะห์ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่แล้ว. -512 – สำนักข่าวไทย