วอชิงตัน 6 พ.ย. – ชาวอเมริกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวานนี้ เพื่อตัดสินว่าใครจะได้เป็นผู้นำประเทศคนต่อไป ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนางคอมมาลา แฮร์ริส
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ออกไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาในสหรัฐที่หน่วยเลือกตั้งในเมืองปาล์ม บีช รัฐฟลอริดา ร่วมกับชาวอเมริกันหลายล้านคน ซึ่งทยอยออกไปยังคูหาเลือกตั้ง เพื่อเลือกระหว่างสองผู้สมัครที่มีวิสัยทัศน์แตกต่างกันอย่างมาก โดยนายทรัมป์แสดงความมั่นใจว่ารณรงค์หาเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม และเรียกร้องให้ชาวรีพับลิกันออกไปใช้สิทธิ์ นายทรัมป์บอกด้วยว่า เขาเป็นคนแรกที่ยอมรับ หากเขาแพ้การเลือกตั้งอย่างยุติธรรม หลังจากช่วงหาเสียงที่ผ่านมานายทรัมป์ระบุมาโดยตลอดว่า ความพ่ายแพ้ใดๆ ของเขา อาจเกิดจากการฉ้อโกงเท่านั้น
ด้านรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ผู้าสมัครจากพรรคเดโมแครต อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี หลังจากใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์มาก่อนหน้านี้แล้ว เธอใช้เวลาตลอดวานนี้พูดคุยทางโทรศัพท์กับสถานีวิทยุหลายแห่งในรัฐสมรภูมิ หรือ สวิง สเตท เรียกร้องให้ชาวอเมริกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
เหตุการณ์ที่พลิกผันจากหลายเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การพยายามลอบสังหารทรัมป์ 2 ครั้ง การถอนตัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบกะทันหัน และการก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของนางแฮร์ริส ทำให้การแข่งขันระหว่างสองฝ่ายยังคงสูสีเกินกว่าจะคาดเดาได้
นางแฮร์ริส วัย 60 ปี จะกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงผิวดำและชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกหากคว้าชัยในการเลือกตั้ง ขณะที่นายทรัมป์ วัย 78 ปี ประธานาธิบดีคนเดียวที่ถูกฟ้องถอดถอนออกจากตำแหน่งถึง 2 ครั้ง และเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา จะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกเช่นกันที่ชนะการเลือกตั้งไม่ติดต่อกันในรอบมากกว่า 100 ปี หลังจากที่เขาไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ในส่วนของบรรยากาศเลือกตั้งตามพื้นที่ต่างๆ มีผู้คนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนกันอย่างคึกคัก เข้าคิวเพื่อรอเข้าไปใช้สิทธิเป็นแถวยาวตามหน่วยเลือกตั้งในหลายรัฐทั่วสหรัฐฯ ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 82 ล้าน ออกใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากันก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งผ่านทางไปรษณีย์หรือกาบัตรด้วยตัวเอง ท่ามกลางการคาดคะเนว่าผลคะแนนที่ออกมาจะคู่คี่สูสีอย่างมาก โดยเฉพาะใน 7 รัฐสมรภูมิ หรือ สวิง สเตท ซึ่งมีแนวโน้มจะตัดสินผู้ชนะ ได้แก่ แอริโซนา (มีคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง 11 คะแนน), จอร์เจีย (16 คะแนน), มิชิแกน (15 คะแนน), เนวาดา (6 คะแนน), นอร์ทแคโรไลนา (16 คะแนน), เพนซิลเวเนีย (19 คะแนน) และวิสคอนซิน (10 คะแนน) โดยในจำนวนนี้ รัฐจอร์เจียจะปิดคูหาเลือกตั้งก่อนเพื่อนตอน 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 07.00 น. เช้าวันนี้ตามเวลาบ้านเรา ส่วนรัฐเนวาดาปิดคูหาช้าสุด ตอน 22.00 น. หรือเกือบ 10 โมงเช้าบ้านเรา
สำหรับขั้นตอนการนับคะแนน ทันทีที่ปิดคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเวลาจะแตกต่างไปในแต่ะรัฐ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะเริ่มนับบัตรลงคะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิเมื่อวานนี้ก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะเริ่มนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งแบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ หรือ Mail-in ที่แต่ละรัฐก็จะมีกฎในการนับบัตรลงคะแนนประเภทนี้ที่ต่างกันออกไปอีก อาทิ บางรัฐกำหนดให้ต้องนับคะแนนบัตร Mail-in ก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่บางรัฐกำหนดให้ต้องนับบัตรเลือกตั้งเฉพาะที่ประทับตราวันที่และส่งมาทันในเวลาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น ทำให้กระบวนการนับคะแนนบัตรประเภทนี้ใช้เวลาพอสมควร
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ทราบผลการเลือกตั้งช้า คือเรื่องเวลาในสหรัฐฯ ที่แตกต่างกันถึง 6 ไทม์โซน ประกอบด้วย Pacific Time / Mountain Time / Central Time และ Eastern Time ไล่ตามลำดับเวลาก่อน-หลัง รวมไปถึงไทม์โซนของแอลาสกา และฮาวาย โดยเมื่อคูหาปิดลงคะแนน สื่อท้องถิ่นจะเริ่มรายงานผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ ไล่มาจากเขตเวลาตะวันออก หรือ Eastern Time ก่อน ซึ่ง 5 รัฐจาก 7 รัฐสมรภูมิ หรือสวิง สเตท อยู่ในพื้นที่นี้ ที่จะปิดคูหาก่อน และน่าจะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการช่วงหลังเที่ยงวันนี้ตามเวลาไทย อย่างไรก็ตาม การประกาศผลเลือกตั้งของสหรัฐที่ค่อนข้างแน่นอน อาจต้องรอหลายวันหลังการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ตัดสินด้วยผลการลงคะแนนรายบุคคลทั่วประเทศ (national popular vote) เหมือนกับประเทศอื่น แต่จะแพ้ชนะด้วยจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของทั้ง 50 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้น ๆ ในจำนวนทั้ง 50 รัฐ มี 48 รัฐที่ผู้ชนะเลือกตั้งในรัฐนั้นจะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด (winner-take-all) มีเพียง 2 รัฐ คือ เนบราสกา และเมน ที่จะจัดสรรจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปตามคะแนนเสียงของแต่ละเขตเลือกตั้งภายในรัฐดังกล่าว ผู้สมัครที่ได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 คน จาก 538 คน จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา
ขณะเดียวกัน นอกจากการหย่อนบัตรเลือกประธานาธิบดีแล้ว เมื่อวานนี้ ชาวอเมริกันยังได้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. ชุดใหม่ทั้งหมด 435 คน ซึ่งเป็นการเลือกทุกๆ 2 ปี ที่ทุกวันนี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ การลงคะแนนเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. 34 ที่นั่งจากทั้งหมด 100 ที่นั่ง หรือราว 1 ใน 3 ซึ่งขณะนี้ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาสูง นอกจากนี้ ยังมีการลงคะแนนยิบย่อยอื่นๆ ทั้งการลงประชามติเรื่องสิทธิการทำแท้งใน 10 รัฐ และเรื่องการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการใน 4 รัฐ.-815.-สำนักข่าวไทย