กทม. 6 พ.ย.- ปัญหาฝุ่นพิษต้องแก้ด่วน “ผู้กองมาร์ค” จี้ นายกฯ เร่งดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ ครม.หวั่นไทยเสียเปรียบการค้าในเวทีโลกหากล่าช้า เผย กมธ. อากาศสอาด ดันร่างกฎหมายให้สำเร็จในปีนี้
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษและมลภาวะทางอากาศ พร้อมเร่งเครื่องให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change) เพราะกฎหมายอากาศสะอาดคือก้าวสำคัญสู่การจัดการปัญหาฝุ่นพิษในประเทศอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เร่งผลักดันร่างกฎหมายให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างแท้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อจัดการปัญหามลพิษให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวว่า การควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และการขนส่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่ยังลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่า โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการเสนอจากหลายฝ่าย ทั้งพรรคการเมืองรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังคงรอการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนส่งต่อให้ที่ประชุม ครม.
“การแก้ปัญหาฝุ่นพิษและภาวะโลกร้อนต้องใช้ทั้งกฎหมายอากาศสะอาดและ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กัน เพราะการควบคุมมลพิษอย่างรอบด้านจะช่วยลดทั้งความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ อุทกภัย วาตภัย และไฟป่า ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ถูกเสนอเข้าสู่ ครม. ในเร็ววัน การแก้ปัญหาฝุ่นพิษและมลพิษจะไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่ เนื่องจากภาครัฐขาดแนวทางที่ครอบคลุมและชัดเจน” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าว
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ยังระบุว่า การขับเคลื่อนกฎหมายนี้ไม่เพียงช่วยจัดการปัญหาฝุ่นพิษในประเทศ แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมสินค้าไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงที่กระแสการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากประเทศไทยไม่ปรับตัวแต่เนิ่น ๆ อาจถูกกีดกันจากประเทศคู่ค้าและตลาดสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีมาตรการภาษีคาร์บอนและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ทำให้สินค้าไทยอาจต้องเผชิญกับภาษีคาร์บอนหรือข้อจำกัดทางการค้าในอนาคต
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า การผลักดันกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย เพราะหากเราเริ่มเร็ว จะสามารถปรับตัวเข้ากับมาตรฐานสากลได้ดีขึ้น พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมแข่งขันได้ในตลาดโลก.319.-สำนักข่าวไทย