ศรีลังกา 1 ก.ค.- การนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยในศรีลังกากลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่บ้านเกิด ได้เตรียมการพร้อมแล้ว “กัญจนา ศิลปอาชา” ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางไปดูแลความเรียบร้อย โดยคณะสัตวแพทย์รายงานว่า สุขภาพของช้างดีพอที่ขนย้ายในคืนนี้
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางไปดูแลการเตรียมพร้อมขนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่สวนสัตว์เดฮิวาลา กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยนางสาวกัญจนาเป็นผู้ที่พยายามผลักดันให้มีการนำช้างกลับมาดูแลรักษาที่ประเทศไทย นับตั้งแต่ทราบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ว่า สุขภาพของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ย่ำแย่
เมื่อนางสาวกัญจนาไปยืนข้างกรง แล้วตะโกนบอก “พลายศักดิ์สุรินทร์” โดยเรียกชื่อในภาษาสิงหลว่า “มุทุ” ให้อดทน มารับกลับบ้านแล้ว ช้างได้ร้องขานรับคำพูด
นางสาวกัญจนากล่าวว่า ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง เชื่อว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” จะผ่านขั้นตอนขนย้ายไปโดยสวัสดิภาพเนื่องจากระหว่างการซ้อมในสภาพใกล้เคียงกับการขนย้ายจริง ช้างมีอาการนิ่ง เชื่อง และว่าง่าย ราวกับรู้ว่า จะได้มีชีวิตใหม่ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เจอมาตลอด 22 ปีในศรีลังกานั้น การต้องอดทนที่จะผ่านช่วงนี้ไป เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก
ขณะนี้ไม่กังวลเกี่ยวกับการขนย้ายเนื่องจากทุกฝ่ายเตรียมพร้อมอย่างดี ทั้งการปรับกรงให้มีอุปกรณ์กันกระแทก มีคานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เข็มขัดช่วยพยุงตัว แท่งเหล็กกั้นของเสียที่พื้นเพื่อไม่ให้ลื่นไถล เป็นห่วงเล็กน้อยตอนเครื่องบินขึ้นและลง ส่วนเสียงดังของเครื่องไอพ่นเครื่องบินเชื่อว่า ไม่ทำให้ช้างตกใจเพราะเคยชินกับเสียงดังในขบวนแห่อยู่แล้ว เชื่อมั่นในศักยภาพของ “พลายศักดิ์สุรินทร์”
นอกจากนั้นทีมสัตวแพทย์รายงานว่า ช้างมีสุขภาพดีเพียงพอที่จะเดินทางซึ่งกระบวนการขนย้ายจะเริ่มในคืนนี้ โดยเครื่องบินจะออกในเวลา 07.00 น. พรุ่งนี้ ขอให้คนไทยส่งกำลังใจให้ช้างและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วง
ล่าสุดนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า เครื่องบิน Ilyushin Il-76 ที่จะใช้ขนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” มาถึงสนามบินบันดาราเนยาเก กรุงโคลัมโบแล้ว โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เช่าเครื่องบินดังกล่าวแบบเช่าเหมาลำ
เครื่องบิน Ilyushin Il-76 เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหารของรัสเซีย ผลิตครั้งแรกในปี 1975 สมัยเป็นสหภาพโซเวียต มีขนาดใหญ่และสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากกว่า 88,000 ปอนด์ (40,000 กิโลกรัม) มีเครื่องยนต์แบบ turbofan 4 เครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุดในการบิน 528 ไมล์ต่อชั่วโมง (850 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และเพดานบินอยู่ที่ 50,850 ฟุต (15,500 เมตร) และรองรับผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 30 ถึง 90 คน
ทั้งนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อส่งเครื่องจักรหนักไปยังพื้นที่ห่างไกล ใช้ขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นพาหนะตอบสนองฉุกเฉินสำหรับการอพยพของพลเรือนอีกด้วย
ก่อนหน้านี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาแนวทางขนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” เริ่มจากใช้เครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศดังที่ใช้เมื่อตอนส่งมอบให้แก่รัฐบาลศรีลังกาในพ.ศ. 2544 โดยขณะนั้นช้างมีอายุเพียง 7 ปีและหนัก 1.3 ตัน แต่ปัจจุบันอายุ 30 ปีและหนักประมาณ 3.5 ตัน ส่วนกรงหนัก 5 ตันจึงไม่สามารถโหลดขึ้นเครื่อง C-130 ได้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขนย้ายทางเรือ แต่ก็เห็นว่า ใช้เวลาเดินทางนาน จนกระทั่งเห็นสมควรใช้เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำซึ่งต้องใช้เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ จึงเลือกเครื่องบิน Ilyushin Il-76 โดยระยะเวลาบินจากสนามบินกรุงสนามบินบันดาราเนยาเก กรุงโคลัมโบถึงสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 13.00 น. ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง สำหรับงบประมาณการขนช้างที่ได้รับจากรัฐบาลเป็นงบกลาง 19 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย