สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ – รมว.ทส. หารือทวิภาคีกับผู้แทนพิเศษของสหรัฐอเมริกาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงการประชุม COP27
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย COP27 พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และนางสาวแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมหารือทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา นำโดย Mr. Rick Duke Deputy Special Envoy for Climate และเจ้าหน้าที่จาก Office of the Special Envoy for Climate เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นการดำเนินงานที่สำคัญของทั้งสองประเทศ และโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือของไทยกับสหรัฐอเมริกาเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้
รมว.ทส. กล่าวว่า ฝ่ายไทยรับทราบว่า สหรัฐอเมริกาได้เชิญชวนประเทศไทยเข้าร่วมข้อริเริ่มระดับโลกด้านการลดก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซมีเทนของโลกร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ. 2030 ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม และข้อริเริ่มด้านยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle Goal: ZEV) ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการขาย ZEV ขนาดเล็กให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปีค.ศ. 2030 ซึ่งมีความสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยในภาพรวม
นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานของประเทศไทยที่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2065 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการคำนึงถึงขีดความสามารถในการดำเนินงานของแต่ละสาขา โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคการเกษตรที่เกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับ ZEV ประเทศไทยมีมาตรการที่จะเพิ่มการผลิต ZEV เป็นร้อยละ 30 จากสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030
อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพื่อเร่งการดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งด้านการเงินและเทคนิค ทั้งนี้ กระทรวง ทส. จะสื่อสารข้อริเริ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตามกระบวนการภายในประเทศ โดยคาดหวังว่า การดำเนินงานดังกล่าวร่วมกัน จะสนับสนุนการรักษา Pathway 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายของความตกลงปารีสต่อไป.-สำนักข่าวไทย