กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – ผู้บัญชาการภาค 1 สั่งตำรวจตรวจเข้มรถพยาบาลไม่ติดสังกัดชัดเจน หลังเรียกอาสาสมัครกู้ภัย รถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือจัดระเบียบขึ้นทะเบียนรถพยาบาลอาสา
พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีสามีภรรยาอาสากู้ภัยขนยาบ้ากว่า 2 ล้านเม็ด ว่า ขณะนี้พบรถกระบะกู้ภัยรับผู้ต้องหาหลบหนีย่านจระเข้น้อยกำลังให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิดใช้เส้นทางไหนหลบหนี เพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี เบื้องต้นพบผู้ก่อเหตุ 5 คน จับแล้ว 2 คน คือ นายสมพงษ์ และนายพิทวัส ส่วนพฤติการณ์ของคนร้าย สืบทราบว่าก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง โดยจะทำหน้าที่เป็นชุดรับจ้างลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนภาคอีสานเข้ามาส่งและจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นายจิรายุทธ และนางสาวทิพวรรณ 2 ได้ขับรถพยาบาลฉุกเฉินข้ามเขตจากกรุงเทพฯ ไปรับยาบ้าที่จังหวัดเลย และมีรถกระบะตู้ทึบนำทางกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากนี้ตำรวจจะขยายผลไปยังนายทุน หรือผู้บงการสั่งการ และตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากพบใครมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด
ส่วนผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี 3 คน คือ นายจิรายุทธ หรือโด้ นางสาวทิพวรรณ หรือทิพย์ ทำหน้าที่ลำเลียงยาเสพติด และนายไอซ์ ทำหน้าที่ขับรถมารับพาผู้ต้องหา 2 คนผัวเมียหลบหนี ตำรวจเตรียมออกหมายจับภายในวันนี้ ซึ่งยังพบความเคลื่อนไหวว่าอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย หากพบคนอื่นเข้าข่ายก็จะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ยังไม่พบกลุ่มหัวหน้าขบวนการค้ายาที่อยู่เบื้องหลัง เบื้องต้นมีผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการ รวม 5 คน ซึ่งตำรวจจะดำเนินข้อหาเสพติดให้โทษกระทำผิดฐาน “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย 4 ราย ส่วนอีก 1 รายที่พาหลบหนี อยู่ระหว่างพิจารณาข้อหาให้ที่พักพิง สนับสนุนช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรง
ขณะที่วันนี้ผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิต่าง ๆ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และตำรวจระดับผู้บังคับการ 9 จังหวัด สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคหนึ่ง เพื่อประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไข โดยหนึ่งเรื่องที่จะต้องหารือ คือ การจัดระเบียบให้มีการขึ้นทะเบียนรถผู้ภัยเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ รวมทั้งการขออนุญาตขอใช้สัญญาไซเรน และแนวทางการปฎิบัติงานที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ซับซ้อนในการทำงาน และยังสามารถตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินไปหาประโยชน์จากสิ่งผิดกฎหมาย
พล.ต.ท.จิรพัฒน์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลการขอใบอนุญาตที่ถูกต้องของรถพยาบาลฉุกเฉินทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด หากมีข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะรวบรวมไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูล โดยเบื้องต้นได้สั่งการภูธรจังหวัด ทั้ง 9 จังหวัด ให้รวบรวมข้อมูลให้เสร็จภายใน 30 วัน พร้อมสั่งการตำรวจในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 กวดขันรถพยาบาลฉุกเฉินที่ไม่มีสังกัดแสดงชัดเจน หากพบให้ขอตรวจค้นทุกคัน และหากผิดกฎหมายก็ให้จับกุมดำเนินคดีทันที
ขณะที่นางพรอุมา อุบลรัตน์ ตัวแทนมูลนิธิร่วมกตัญญูที่เข้าร่วมประชุม ยอมรับว่าทางมูลนิธิฯ ผิดพลาดในตรวจสอบข้อมูลเจ้าหน้าที่ก่อนจะตัดสินใจรับเข้ามาปฏิบัติงาน แต่พร้อมจะแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ รถกู้ภัย-กู้ชีพที่อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิร่วมกตัญญู 9 จังหวัดภูธรภาค 1 ขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้วกว่า 100 คันจากทั้งหมดกว่า 400 คัน ส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทำบัตรประจำตัวอาสาฯ จึงยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ ส่วนมูลนิธิอื่น ๆ อยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล ก่อนจะส่งมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนี้จะเร่งดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย