กทม.12 ธ.ค.- ตำรวจ ปคบ.ร่วมกับ อย.ลุยตรวจโกดังย่านลำลูกกาลักลอบแบ่งบรรจุถุงมือถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อ NA เพื่อจำหน่าย
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แถลงผลนำกำลังเข้าตรวจค้นโกดังย่านลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี หลังสืบทราบว่าเป็นสถานที่ลักลอบแบ่งบรรจุถุงมือใช้แล้วเพื่อจำหน่ายใหม่ ขณะเข้าตรวจค้นพบคนงานกำลังคัดแยกถุงมือยางและถุงมือไนไตรล์สีฟ้า ที่มีสภาพเหมือนถุงมือใช้แล้ว บรรจุลงกล่องที่มีสัญลักษณ์ทางการแพทย์ขายเป็นถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อ NA ยึดของกลางถุงมือรอการคัดแยก 654 กระสอบ กล่องบรรจุภัณฑ์ 3 หมื่นกล่อง ถุงมือรอบรรจุ ถุงมือพร้อมจำหน่าย และอุปกรณ์การผลิตไว้ทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ปคบ.ได้มีการตรวจยึดถุงมือยางทางการแพทย์ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นความผิดรายใหญ่ได้จำนวน 2 ราย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าไม่ให้จำหน่าย หน้ากากอนามัยในราคาที่สูงเกินจริง โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบปลายทางของสินค้าว่าซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ
เครือข่ายนี้จะใช้ 3 วิธีการ วิธีแรกคือการนำเข้าถุงมือยางจากต่างประเทศมาบรรจุเป็นยี่ห้อของตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาต /วิธีที่สอง คือนำเข้าถุงมือยางจากต่างประเทศในราคาถูก และมาย้อมแมวเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางสินค้า และที่แย่ที่สุดคือวิธีการที่สาม คือนำขยะถุงมือยางที่ใช้งานแล้วมาทำความสะอาดก่อนนำใส่บรรจุภัณฑ์ออกจำหน่ายใหม่เหมือนถุงมือยางมือหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ที่นำไปใช้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ
ด้านเภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรอบใหม่ ทำให้การ
ลักลอบผลิตถุงมือรายใหญ่กลับมาอีกครั้ง กรณีนี้มีการแสดงฉลากระบุสัญลักษณ์เกี่ยวกับโรงพยาบาลและฟัน ซึ่งอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจผิดได้ จึงขอประชาสัมพันธ์ไม่ควรใช้ถุงมือยางยี่ห้อ NA หากมีเบาะแสของการจำหน่ายและพฤติการณ์ลักษณะนี้ให้แจ้ง ปคบ. หรือ อย. ทันที พร้อมแนะนำก่อนตัดสินใจซื้อ ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ.-สำนักข่าวไทย