22 มี.ค. – ตร.เผยภัยออนไลน์จากการหลอกลวงซื้อสินค้า พบเป็นคดีที่ประชาชนถูกหลอกมากเป็นอันดับ 1 สัปดาห์เดียวถูกหลอก 1,500 เคส เสียหายกว่า 14 ล้านบาท มีทั้งหลอกขายนม ปลอมคิวอาร์โค้ด เปิดบัญชีม้า
พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้นำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์และภัยที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 มี.ค.66) มีผู้แจ้งความ 4,291 เคส มูลค่าความเสียหาย 351,191,412.31 บาท สถิติการรับแจ้งลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,496 เคส สำหรับสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 1,500 เคส มูลค่าความเสียหาย 14,003,677.05 บาท คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม 578 เคส 71,469,279.03 บาท คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ (call center) 529 เคส 65,547,808.73 บาท คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 429 เคส 17,113,573.64 บาท และคดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 236 เคส 10,637,571.37 บาท
ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ เช่น คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า (นม) โดยมิจฉาชีพสร้างเพจ Facebook “Thai-Denmark นมไทยแท้ ส่งทั่วไทย” คล้ายของจริง เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสอบถามเพื่อขอซื้อนม เพจจะให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินให้ก่อน แล้วปิดเพจหนีไป จุดสังเกต ของปลอม พบการกดปุ่มโกรธ (angry) จำนวนมาก สถานะของเพจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งเปิดเพจ และผู้จัดการเพจอยู่ต่างประเทศ ส่วนของแท้ เป็นธุรกิจท้องถิ่น และเปิดมานานและผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนควรสงสัยไว้ก่อนว่าของดีและถูกเกินกว่าราคาตลาดมาก ๆ และบัญชีรับโอนเงินบุคคลธรรมดา น่าจะหลอกลวง
เรื่องที่ 2 คดีแก๊งคอลเซนเตอร์ติดต่อร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์หลอกสั่งข้าวกล่อง และโอนมัดจำให้ร้านค้าก่อน วันต่อมา คนร้ายได้โทรศัพท์บอกให้ร้านอาหารสั่งชุดอาหารพิเศษเพิ่ม 7 ชุด และส่ง QR Code มาให้ร้านแอด และบอกว่าจ่ายเงินเพิ่มให้ภายหลัง และอ้างด้วยว่าเป็น QR Code แอดไลน์เท่านั้น แต่เมื่อแสกน QR Code พบว่า หน้าจอค้าง เจ้าของโทรศัพท์จึงรีบเข้าแอปฯ ธนาคาร เพื่อโอนเงินออกไปบัญชีอื่นก่อน และปิดเครื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ QR Code ให้ดีก่อนที่จะ Scan หรือโอนเงิน
เรื่องที่ 3 คดีกลรักออนไลน์ (Romance Scam) ถูกหลอกซ้ำซ้อน คือหลอกให้โอนเงิน 2 ครั้ง และหลอกให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว เรื่องนี้คนร้ายได้ติดต่อพูดคุยกับผู้เสียหายทาง Facebook จากนั้นอ้างว่าอยากจะมาอยู่เมืองไทย มาใช้ชีวิตคู่กับผู้เสียหาย และส่งสินค้ามีค่ามาให้ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินชำระภาษี ถือเป็นการหลอกให้โอนเงินรอบแรก จากนั้นจะหลอกว่าต้องการทำธุรกิจร่วมกับผู้เสียหาย แล้วให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้สำหรับการลงทุน จากนั้นคนร้ายได้หลอกผู้เสียหายคนที่ 2 และให้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายคนแรก และให้ผู้เสียหายคนแรก ซื้อเหรียญคลิปโตให้คนร้าย ทำให้ผู้เสียหายคนแรก กลายเป็นผู้ต้องหาในคดี
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถติดต่อธนาคารเพื่อระงับธุรกรรมของบัญชีต้องสงสัยชั่วคราวได้โดยตรงทันที จากนั้นจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กรณีธนาคารพบธุรกรรมต้องสงสัยสามารถระงับธุรกรรมชั่วคราว ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใด หรือที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม และพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 72 ชม. และพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งกลับไปยังธนาคารของบัญชีนั้นภายใน 7 วัน เพื่อยืนยันการระงับธุรกรรมของบัญชีนั้น
สำหรับ อัตราโทษทตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและ ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ในข้อหา ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (บัญชีม้าหรือซิมม้า) โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนําไปใช้ในการกระทําความผิด มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ
ข้อหา เป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อขายบัญชี (บัญชีม้าหรือซิมม้า) เพื่อใช้ในการกระทําความผิด จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อหา เป็นธุระจัดหาโฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งลงทะเบียนในนามบุคคลอื่นแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้จริงได้ จําคุกตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ. -สำนักข่าวไทย