สตช. 14 มี.ค. – แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงคลัง ครองแชมป์ภัยออนไลน์สูงสุด 7 วัน เหยื่อพุ่งพรวดกว่า 700 คดี ความเสียหายเกือบ 90 ล้านบาท พร้อมเผยแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาเหยื่อถูกดูดเงินจากบัญชี ธนาคารรับผิดชอบให้ครึ่งหนึ่ง
พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำแถลงระบุสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบ 1 ปี ตั้งแต่ 1 มี.ค.65-11 มี.ค.66 จำนวน 218,210 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 31,579,305,746 บาท
ขณะที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-11 มี.ค.66) พบว่ามีการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 5 อันดับแรก คือหลอกลวงซื้อขายสินค้า, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม, หลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ (call center), หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน รวม 5,787 เคส มูลค่าความเสียหายรวม 377,284,886 บาท โดยแก๊ง call center จะใช้รูปแบบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และได้โทรศัพท์หาผู้เสียหายให้ตรวจสอบสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน Website กระทรวงการคลัง จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนใน line ช่วงนี้คนร้ายส่ง link กระทรวงการคลังปลอมให้ผู้เสียหายกดเข้าไป ต่อมาคนร้ายได้ให้ผู้เสียหายกดที่โลโก้ของกระทรวงการคลังมุมขวามือ ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังจริง จึงยินยอมกดลิงค์เข้าเว็บไซต์ปลอม และกรอกข้อมูลชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวในระบบ และใส่รหัสยืนยันตัวตน เลข 6 หลัก ต่อมาผู้เสียหายกรอกเลข OTP 6 หลักให้คนร้ายเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถูกควบคุมโทรศัพท์และถูกดูดเงินออกไป โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหยื่อที่ถูกแก๊ง call center หลอกทั้งสิ้น 739 คดี รวมความเสียหาย 87,227,644.38 บาท
ด้าน พ.ต.อ.ก้องกฤษฏา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ระบุมีคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 6233/2564 กรณีนาง จ. เหยื่อโจรออนไลน์ ยื่นฟ้องตรงต่อศาลแพ่งเรียกร้องให้ธนาคารที่รับฝากเงินชดใช้เงินฝากที่ถูกดูดออกจากบัญชี โดยเหตุเกิดช่วงประมาณ 23.00-02.00 น.ในปี 2564 โดยนาง จ. ถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จำนวน 12 ครั้ง รวม 1.1 ล้านบาท จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งโดย โดยศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษากรณีดังกล่าว เกิดจากความประมาทของ นาง จ. ผู้เสียหาย ที่ไปกดลิงค์เป็นเหตุให้ถูกคนร้ายควบคุมโทรศัพท์มือถือ ธนาคารไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่ในชั้นศาลฎีกา ปรากฏว่าศาลพิพากษาแก้ ธนาคารมีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ปกป้องลูกค้า ปล่อยให้คนร้ายก็ทำการดูดเงินออกจากบัญชีจึงเป็นการประมาทร่วมระหว่าง นาง จ. ผู้เสียหาย กับทางธนาคาร ให้ธนาคารชดใช้เงินให้กับนาง จ.ครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกดูดเงินจากบัญชี และถูกธนาคารปฏิเสธความรับผิดชอบสามารถยื่นฟ้องตรงต่อศาลแพ่งให้ธนาคารชดใช้เงินได้ แต่การพิจารณาขึ้นกับพฤติการณ์ของคนร้าย และผู้เสียหาย ซึ่งศาลต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป.-สำนักข่าวไทย