กูเกิลประกาศโครงการช่วยเอสเอ็มอีฟื้นฟูประเทศไทยหลังโควิด-19

กรุงเทพฯ 27 ส.ค. กูเกิล ประกาศโครงการช่วยฟื้นฟูประเทศไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน นางแจ็คกี้ หวาง ผู้จัดการ กูเกิลประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการกูเกิลประเทศไทยได้พิ่มโครงการSaphan Digital โดยเป็นความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และพันธมิตรจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ บุคคลทั่วไป และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้เข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลและเรียนรู้ทักษะดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจับคู่กับผู้ประกอบการและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อรับประสบการณ์จริงจากการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อทำงานกับองค์กรกูเกิลต้องการให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.3 ล้านรายที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19  กูเกิลตระหนักว่าวิถีชีวิตใหม่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาทำธุรกิจแบบออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปได้ ดังนั้น พวกเขาจึงควรได้รับการเสริมสร้างความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจ นางสาวอภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย กูเกิลคอนซูมเมอร์ โซลูชั่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลจะสนับสนุนบุคลากรและเครื่องมือในการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ การธนาคาร อีคอมเมิร์ซ บริการส่งของออนไลน์ การจัดหางานออนไลน์ และคอมมูนิตี้สเปซ โดยการรวบรวมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเครื่องมือดิจิทัลเข้าด้วยกันในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ได้ยกระดับทักษะดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้กูเกิลได้เปิดต้วโครงการDeveloper Student Club ที่ร่วมมือกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมที่แข็งแกร่งในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย โดย Developer Student Club จะเป็นกลุ่มชุมชนสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สนใจเทคโนโลยีของกูเกิล […]

นักกฎหมายไอทีชี้เฟซบุ๊กฟ้องได้แค่ขอยกเลิกคำสั่งศาล

กรุงเทพฯ 25 ส.ค. ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชี้เฟซบุ๊กฟ้องได้แค่ให้ยกเลิกคำสั่งศาล ชี้การออกคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย อยู่บนหลักการกฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำเป็นอำนาจศาลไทยไม่สามารถก้าวล่วงได้ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวกรณีที่เฟสบุ๊กออกแถลงการณ์จะโต้แย้งทางข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยว่า หากเฟซบุ๊กจะโต้แย้งทางข้อกฎหมายอย่างที่แถลงการณ์ระบุก็สามารถทำได้โดยน่าจะเป็นการฟ้องเพื่อยกเลิกคำสั่งศาล ไม่ใช่ฟ้องรัฐบาลไทยอย่างที่เข้าใจกับ และเชื่อว่าถึงจะฟ้องไปก็น่าจะมีเหตุผลสนับสนุนคำฟ้องค่อนข้างน้อย  เพราะคำสั่งปิดบล็อกเว็บไซต์เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาลไทยที่สามารถสั่งได้ และคำสั่งศาลนั้นเป็นอำนาจอธิปไตยขององค์กรตุลาการของแต่ละประเทศไม่สามารถก้าวล่วงได้ การที่ศาลไทยมีคำวินิจฉัยออกมามีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าการกระทำที่เกิดขึ้นผิดกฎหมาจจึงออกคำสั่ง นอกจากนี้ การปิดบล็อกเว็บไซต์เป็นการใช่อำนาจตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่มีต้นร่างมาจากหลักกฎหมาย Cyber Crime Convention ที่ต่างประเทศใช้กับซึ่งกฎหมายฉบับนนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มีการกล่าวอ้าง-สำนักข่าวไทย.

ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลเตรียมปรับปรุงโครงข่าย

กรุงเทพฯ 25 ส.ค. ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯเริ่มปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศโครงข่ายทีวีดิจิตอล ตามนโยบายของ กสทช. เริ่ม ก.ย. นี้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) กล่าวว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) เดินหน้าปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ของ กสทช. เริ่ม ก.ย.นี้ พร้อมเปิดคู่สายผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สอบถาม หากพบปัญหาในการรับชม ทั้งนี้ตามที่ กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ รวมถึงคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง เพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมในการรองรับเทคโนโลยี 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศ โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เนื่องจากสัญญาณอาจประสบปัญหาโดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละโครงข่ายฯ ระหว่างเดือนกันยายน 2563  – กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่แรกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2563 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และบริเวณใกล้เคียงในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ต่อด้วยพื้นที่ภาคเหนือในเดือนตุลาคม 2563 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก คาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในการปรับปรุงโครงข่ายฯ ทางชมรมโครงข่าย กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นผู้รับรองมาตรฐาน แต่เนื่องจากในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาปรับจูนหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งและคอมบายเนอร์ตามแผนที่กำหนดได้ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จึงได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า  จะให้เจ้าหน้าที่หรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมและมีใบรับรองมาตรฐานสากลดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยต่อไป นายเขมทัตต์ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ข้างต้นหากผู้ชมพบว่าไม่สามารถรับชมรายการผ่านสายอากาศแบบก้างปลาได้ตามปกติอาจจะต้องปรับจูนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Set Top Box) เพื่อให้สามารถกลับมารับชมดิจิทัลทีวีได้อีกครั้ง โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์  ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบวันเวลาปรับเปลี่ยนสัญญาณในพื้นที่ พร้อมคู่มือการจูนสัญญาณโดยละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ http://700.nbtc.go.th หรือหมายเลขโทรศัพท์  Call Center 020-700-700  ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล  4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) -สำนักข่าวไทย.

ดีป้าเสนอระบบพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน

ระยอง 25 ส.ค. ดีป้าจับมือพันธมิตรแสดงดิจิทัลโซลูชั่น ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้แทนจาก บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด และชมรมธีราทรเพื่อผู้พิการ ร่วมออกบูธนิทรรศการ พร้อมให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจร ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชัน เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการดิจิทัลโซลูชันเด่นที่นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ประกอบด้วย แอปพลิเคชัน depa PM2.5 ที่ถูกพัฒนาขึ้นร่วมกันระหว่าง สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ดีป้า และเอไอเอส เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ใช้รับมือกับปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ สอดรับลักษณะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยได้ดำเนินการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรวจวัดได้ไปยัง“Magellen” ไอโอทีแพลตฟอร์มของ เอไอเอส ด้วยเครือข่าย NB-IoT เพื่อประมวลผล ก่อนรายงานข้อมูลทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ Container Truck Gate Automation โดย เวริลี วิชัน เครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพของ ดีป้า ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการทำงานบริเวณทางเข้าออกท่าเรือสำหรับผู้ให้บริการท่าเรือสินค้า ผู้ให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล ให้กับวิสาหกิจชุมชน ทั้งในและการอ่านป้ายทะเบียนรถบรรทุกอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยี Deep Learning ที่ใช้งานร่วมกับกล้องวงจรปิด และเซนเซอร์ พร้อมรองรับการทำงานของระบบช่องทางเดินรถแบบบริการตนเองอัตโนมัติ (Gate Kiosk) เพื่อให้คนขับรถสามารถยืนยันตัวตนและส่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยโครงการดังกล่าวสอดรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการเดินทาง ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โครงการเกษตรอัจฉริยะหนุนเสริมกลุ่มครอบครัวผู้พิการ โดยชมรมธีราทรเพื่อคนพิการ ในอำเภอแกลง จังหวัดระยองโดย ดีป้า เข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในชมรมประยุกต์ใช้อุปกรณ์ไอโอทีกับระบบ Smart Farming ในการควบคุมการให้น้ำแปลงผักแบบอัตโนมัติผ่านการส่งสัญญาณจากเซนเซอร์หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการในการดูแลผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจาก 1,500 บาทเป็น 1,800 บาทต่อเดือนต่อคน นายณัฐพล กล่าวว่า ดีป้าจะไม่คิดแทน ทำแทน หรือทำให้ แต่จะสอนให้ทุกภาคส่วนคิดเป็น ทำเป็น และทำได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมประเทศก่อนเข้าสู่ยุคประเทศไทย4.0 ในอนาคตอันใกล้ -สำนักข่าวไทย.

ดีแทคตั้งเป้าลดการฝังกลบขยะไอที

อยุธยา 24 ส.ค.  ดีแทคตั้งเป้ากำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีการฝังกลบภายในปี 2565 นางอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บซากขยะโทรศัพท์มือถือเก่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555  ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของเรา จากสถิติที่เก็บได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ดีแทคสามารถเก็บขยะมือถือได้ถึง 1,774,338 เครื่อง เข้าสู่ระบบรีไซเคิล ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 22,330,044 กิโลคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้มากถึง 2,481,116 ต้น ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกท่านรวมถึงเพื่อนพนักงานดีแทคจะร่วมกันใส่ใจและจัดการกับซากขยะมือถือที่ใช้งานไม่ได้แล้วอย่างถูกวิธี “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคพยายามกำจัดประกอบด้วย ซากมือถือ โดยดีแทคมีพันธมิตรในการกำจัดขยะอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องฝังกลบ , ขยะจากโครงข่ายสัญญาณ ตั้งเป้าไม่มีการฝังกลบในปี 2565 สุดท้ายคือ ขยะจากโอเปอเรชั่น ที่มีตั้งแต่ขยะในสำนักงาน เศษอาหาร ดีแทครวบรวมข้อมูลพบว่าแต่ละปีพนักงาน 1 คน ทำให้มีขยะถึง 37.5 กิโลกรัม ดีแทคจึงมีเป้าหมายจะกำจัดขยะโดยนำไปรีไซเคิ่ลร้อยละ 20 กำจัดโดนเปลี่ยนเป็นพลังงานนำกลับมาใช้ร้อยละ 10-15 “ นางอรอุมากล่าว  นางอรอุมากล่าวอีกว่า ซากอุปกรณ์สื่อสาร ประเภทโทรศัพท์มือถือ เป็นส่วนหนึ่งของซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครองสัดส่วนสูงที่สุดถึงร้อยละ 65 จากจำนวนขยะอันตรายมีพิษทั้งหมด ทั้งนี้ จากสถิติของหน่วยงาน กรมควบคุมมลพิษแถลงสรุปภาพรวมปี 2561 ระบุว่า มีขยะอันตรายมีพิษได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 13 โดยจำนวนนี้ ได้รวมถึง ขยะในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือ อุปกรณ์เชื่อมต่อด้วย ดีแทคตระหนักถึงความรุนแรงของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนในระยะยาว โดยดีแทคได้ยกระดับมาตรการการจัดการซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เชื่อมต่อ ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเปิดโครงการ “ดีแทค ทิ้งให้ดี” ที่เชิญชวนผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่มีอุปกรณ์สื่อสารที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และยังเก็บไว้ในบ้าน ให้มาทิ้งที่ศูนย์บริการดีแทค ทั้ง 51 แห่งทั่วประเทศ -สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสเล็งต่อยอดเน็ตประชารัฐสร้างรายได้ให้ชุมชน

ระยอง 24 ส.ค. พุทธิพงษ์ เล็งต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพิ่มการพัฒนาเชิงรุกให้ชุมชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวกยิ่งขึ้น หนุนพัฒนาแพลตฟอร์มหลักสูตรการเรียนออนไลน์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการ และเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.ระยอง ว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่นอกเหนือจากการอบรมให้ความรู้และการชายสินค้าออนไลน์ ควรเพิ่มในเรื่องของการท่องเที่ยว การสาธารณสุข และความรู้ในท้องถิ่น การค้นคว้าหาความรู้ โดยมุ่งเน้นความเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป อีกทั้ง เร่งรัดพัฒนาเชิงรุกให้ชุมชนการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ได้สะดวกและง่ายขึ้น คณะผู้บริหารของดีอีเอส ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ใน 3 จุด ที่ดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งในส่วนของ จ.ระยอง มีจำนวนจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ ทั้งหมด 114 หมู่บ้าน กระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยให้บริการที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps /10 Mbps รวมถึงจุดที่ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนด้วย แต่ละจุดมีจุดเด่นในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเน็ตประชารัฐแตกต่างกันตามบริบทและความต้องการของชุมชน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมได้มอบข้อเสนอแนะและข้อสั่งการ ให้ขยายจากการอบรมให้ความรู้และการชายสินค้าออนไลน์ ควรเพิ่มในเรื่องของการท่องเที่ยว การสาธารณสุข และความรู้ในท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ ใช้การพัฒนาเชิงรุกให้ชุมชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้นและเกิดความรู้ใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายโอกาสกระจายสินค้าดีในท้องถิ่นสู่ลูกค้าทั่วโลกผ่านการค้าขายออนไลน์ ภายหลังการเยี่ยมชม ศูนย์ดิจิทัลชุมชน อบต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ที่เป็นพื้นที่นี้มีสินค้าชุมชนที่สำคัญ คือ ไม้กฤษณาเครื่องจักสาน ตะกร้า และดอกไม้จันท์ เป็นต้น โดยเฉพาะไม้กฤษณา มีฐานลูกค้าส่วนหนึ่งในตลาดต่างประเทศ  วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง หมู่ที่ 6 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งชาวบ้านทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก และหลุดพ้นจากวงจรปัญหาราคายางตกต่ำ ได้ด้วยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เรื่องการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์จาการยางแห่งประเทศไทย และพื้นที่ติดตั้งเน็ตประชารัฐที่หมู่ 5 บ้านเกษตรศิริ ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า  เมื่อมีการทำสินค้าแบรนด์ตัวเอง จึงต้องเพิ่มการบริหารจัดการหน้าร้านและคลังสินค้าของวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีระบบบริหารรจัดการร้านค้าและคลังสินค้าประยุกต์ใช้  อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริง ดังนั้นการนำเสนอสินค้าบนเว็บไซต์ให้น่าสนใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งการถ่ายภาพ การเขียนรายละเอียดสินค้าและการเล่าเรื่องราวเทคโนโลยี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นอยากให้ดีป้าเข้าไปช่วยส่งเสริมอบรมในการนำเสนอสินค้าบนช่องทางออนไลน์ทั้งการถ่ายภาพ การเขียนรายละเอียดสินค้า และการเล่าเรื่องราวเทคโนโลยี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการผลิต ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงเรื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการสร้างมาตรฐานของสินค้า เพื่อสร้างจุดขาย สร้างโอกาสกระจายสินค้าไปทั่วโลกและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อีกทั้งควรใช้ระบบบาร์โค้ดในการจัดเก็บและขายสินค้า เพื่อให้สะดวกต่อการนับสินค้าคงคลัง และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับหลักสูตรการการเรียนออนไลน์ให้กับผู้ที่มีความสนใจ สามารถเรียนย้อนหลังได้ ทั้งนี้นโยบายรัฐบาล ในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมหมู่บ้านทั่วประเทศ คือการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ดังนั้นต้องสร้างการรับรู้ให้ใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐของประชาชน มีการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาณการใช้งานเน็ตประชารัฐในพื้นที่ให้ไกลยิ่งขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนต่อยอดการใช้ประโยชน์ส่งเสริมในการค้าขายออนไลน์ ของดีชุมชนเพื่อขยายโอกาสไปได้ทั่วโลก-สำนักข่าวไทย.

ซีอีโอดีแทคยืนยันเดินหน้าทำธุรกิจต่อ ชี้องค์กรต้องปรับให้รับสถานการณ์

กรุงเทพฯ 21 ส.ค. ดีแทค ย้ำยังเดินหน้าทำธุรกิจในประเทศไทยต่อ รับองค์กรตั้งปรับเปลี่ยนให้สอดรับสถานการณ์ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เ กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 6 เดือนที่นั่งในตำแหน่งซีอีโอดีแทค พบว่าตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยมีความเฉพาะตัวในหลายด้าน ทั้งพฤติกรรมหรือความต้องการใช้งานของลูกค้ามีลักษณะเฉพาะบุคคลมาก จึงถือเป็นความท้าทายในการทำงานแต่ก็เข้าใจดีถึงกระแสข่าวด้านลบที่มีต่อดีแทค ทั้งการที่เทเลนอร์ กรุ๊ป จะยกเลิกการทำธุรกิจในไทย หรือการมีพันธมิตรต่างชาติเข้าครอบครองกิจการ และการปรับลดพนักงานล ร้อยละ50 เพื่อลดขนาดองค์กร “ดีแทคยังคงลงทุนและจะให้บริการในประเทศไทยต่อไป บริษัทพร้อมปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถีโลกและในไทย ซึ่งจากภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะมุ่งทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิทัลต้องมาก่อน” นายชารัด กล่าว นายชารัด กล่าวอีกว่า  การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่รวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจต้องรวดเร็วมากขึ้น และอยู่บนฐานของความต้องการของลูกค้ามากขึ้น พนักงานขององค์กรจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยดีแทคมีแนวคิดแบบ tight-loose-tight เพื่อให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายต้องชัดเจนแม่นยำ แต่เมื่อปฏิบัติต้องยืดหยุ่นพอ ขณะเดียวกัน ต้องรักษาสัญญาเพื่อให้ได้เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเชื่อว่าวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่นจะยังอยู่ไปอีกนาน และเป็นหนทางเดียวในการบริหารคนในองค์กรในบริบทเช่นนี้ ซึ่งผลจากการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ทำให้องค์กรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น  “ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางและวิถีการทำงานใหม่ในการทำงาน ในการทำงานปัจจุบันร้อยละ 70 ของพนักงานไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ สะท้อนถึงการคงอยู่ของวิถีการทำงานแบบยืดหยุ่นนับต่อจากนี้ไป” นายชารัด กล่าว นายชารัด กล่าวว่า ดีแทคไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารให้ล้ำสมัยเพื่อรองรับการใช้งานทำให้เพิ่มประสบการณ์ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น เราต้องการให้ลูกค้าได้ทดสอบเพื่อได้รับประสบการณ์ คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือย่านความถี่สูง ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความสามารถในการนำมาใช้งานเพื่อความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล และยังสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลที่มีความแม่นยำในการใช้งาน สำหรับการรองรับ 5G ไม่ใช่แค่การใช้งานบนมือถือ แต่สามารถนำมาเชื่อมต่อ Massive IoT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง และสมาคมจีเอสเอ็มรายงานในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ระบุว่ามี 70 อุปกรณ์ที่รองรับแล้ว  “ปีนี้ดีแทคมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณจำนวน 20,000 สถานีฐาน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการให้บริการ 4G และ5G ทั่วประเทศ รองรับการใช้งานที่ไม่ได้มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะพื้นที่ในเมือง ดีแทคมองว่ามีบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการด้วย TDD massive MIMO ที่มีอยู่ และไม่ได้มองว่า 5G ไม่สำคัญ” นายชารัด กล่าว นายชารัด กล่าวว่า มุมมองเกี่ยวกับการวางแผนคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้น รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรนำคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาจัดสรรเพื่อใช้พัฒนา 5G เนื่องจากคลื่นความถี่สำคัญ เพราะร้อยละ 70 ของการทดลองทดสอบ 5G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั่วโลกเลือกใช้คลื่นในย่านนี้ เพราะมีระบบนิเวศรองรับมากเพียงพอ อาทิ อุปกรณ์มือถือ แอพพลิเคชั่น เพื่อการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม ที่หลากหลายและครบถ้วนมากกว่า อันจะทำให้ 5G ที่พัฒนาอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์  ดังกล่าวนี้ มี economy of scale มากกว่าย่านที่ให้บริการอยู่ “กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องดีแล้ว แต่เราต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเตรียมพร้อมคลื่นดังกล่าวให้นำมาใช้งานได้หรือรีฟาร์ม และกรอบเวลาในการประมูล เพื่อให้คลื่นพร้อมถูกนำมาใช้งานได้ในทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของการครอบครองซึ่งปัจจุบันบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ใช้งานสำหรับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 5 ขณะนี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และบริษัทไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 21 กันยายน 2564  วาระเร่งด่วนของประเทศไทยขณะนี้ คือเรื่องการกระจายสัญญาณในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการรองรับการใช้งานสำหรับคนไทยทุกคน เนื่องจากการไร้แผนรองรับการพัฒนา 5G อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอย่างอื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชนบท คนรวยและคนจน” นายชารัด กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ล็อกซ์เลย์เปิดแพลตฟอร์มตรวจสอบโควิด-19

กรุงเทพฯ 20 ส.ค ล็อกเล่ซ์ เปิดตัว แคร์เช็ก นวัตกรรมจัดการความเสี่ยงโควิด-19 นายวสันต์ จาติกวณิช กรรมการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย กลุ่มบริษัท ล็อกซเล่ย์จึงได้เริ่มจัดตั้งคณะทำงานติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดมาตรการและได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทั้งผู้บริหารและพนักงาน ขณะเดียวกัน ล็อกซเล่ย์ได้ร่วมมือกับบริษัทย่อยคือ บริษัท เค 2 เวนเจอร์ แคปปิตอล (K2VC) พัฒนาโมบายแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการ และประเมินความเสี่ยงของพนักงานในการติดเชื้อโควิด-19 ให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อ แคร์เช็ก (CareChek)  โดยแคร์เช็กเป็นโมบายแพลตฟอร์มที่ใช้ประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายบุคคล ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงในการนำโรคติดต่อเข้ามาในสถานที่ทำงาน นวัตกรรมนี้ใช้การวิเคราะห์เชิงทำนาย (predictive analytics) เพื่อคัดกรองพนักงานตามความเสี่ยงของการสัมผัสกับโรคก่อนที่พวกเขาจะติดเชื้อ โดยระบบจะวิเคราะห์และคำนวณระดับความเสี่ยงผ่านการผสมผสานของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น การรายงานอาการของพนักงาน ระบบพิกัด (geo-location) ข้อมูลวิจัยทางการแพทย์ และ ข้อมูลประชากรศาสตร์ เพื่อช่วยจำแนกพนักงานที่อาจมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ซึ่งแนวคิดนี้มีความแตกต่างจากวิธีติดตามการระบาดทั่วไป ที่มีการเจาะจงการติดเชื้อ และต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการใช้งานให้เกิดผลตามเป้าหมาย “เราได้นำระบบนี้มาใช้งานจริงกับพนักงานในกลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ […]

กสทช.ไม่ให้ค่ายมือถืออ้างช่องโหว่ธุรกิจไม่คืนเงินผู้บริโภค

กรุงเทพฯ 20 ส.ค. กสทช. บอกปัดค่ายมือถือ ไม่ให้อ้างเหตุช่องโหว่จากธุรกิจค้าค่าโทรปฏิเสธการคืนเงินผู้บริโภค นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ  ส่งบทควาถึงสื่อมวลชนเพื่อแสดงคามเห็นกรณีเกี่ยวกับคิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมล่าสุด ครั้งที่ 7/2563 ประจำเดือนสิงหาคม ได้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภค 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือแบบจ่ายล่วงหน้า (pre paid)  ต้องการปิดบริการกับค่ายมือถือรายหนึ่ง จำนวนทั้งสิ้น 24 เลขหมาย รวมยอดเงินกว่า 237,000 บาท แต่ปรากฏว่าถูกบริษัทปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินคงเหลือในระบบให้ จึงได้ร้องเรียนความเดือดร้อนดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช. จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ โดยได้เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเข้าชี้แจง พบว่า ผู้ร้องเรียนกลุ่มนี้มีการขอปิดบริการคราวละจำนวนหลายเลขหมาย และในแต่ละเลขหมายมียอดการขอคืนเงินสูงเกือบ 10,000 บาท ซึ่งในด้านผู้ให้บริการหรือค่ายมือถืออ้างว่า ยอดเงินในเลขหมายที่สูงมากนี้มีลักษณะไม่ใช่เป็นการเติมเงินไว้เพื่อการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามปกติ แต่ใช้เป็นช่องทางการโอนเงินหารายได้ แล้วมาขอรับเป็นเงินสด อีกทั้งยอดเงินบางส่วนก็เป็นการรับโอนต่อมาจากเลขหมายอื่นผ่านบริการของบริษัทที่ให้ผู้ใช้บริการระบบรายเดือน (post paid) สามารถเติมเงินค่าโทรให้กับผู้ใช้เบอร์เติมเงินได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการแบบรายเดือนบางรายถูกหลอกให้เติมเงินให้ผู้อื่นและยังไม่ได้ชำระค่าบริการให้แก่บริษัท ดังนั้นบริษัทจึงต้องการอายัดเงินดังกล่าวทั้งหมดไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบ ขณะที่ทางด้านผู้ร้องเรียนชี้แจงว่า ที่มาของเงินในระบบส่วนใหญ่มาจากการซื้อค่าโทรผ่านร้านค้าออนไลน์ที่มีส่วนลดให้ และผู้ร้องเรียนบางรายมีการซื้อค่าโทรผ่านคนรู้จัก […]

ทวิตเตอร์เพิ่มคุณสมบัติในการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติ

กรุงเทพฯ 20 ส.ค. ทวิตเตอร์เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่บริการแจ้งเตือนอัปเดตแหล่งข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับภัยพิบัติ ทวิตเตอร์ประเทศไทย เปิดตัวคุญสมบัติใหม่บริการแจ้งเตือนอัปเดตแหล่งข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ บนทวิตเตอร์เพื่อให้ทุกคนไม่พลาดทุกข่าวสารล่าสุดจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติต่างๆ และการบรรเทาสาธารณภัยในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลประจำปีและฤดูกาลของมรสุมเขตร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ภัยแล้ง ไฟป่า ทีาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยในแต่ละปี เพื่อขยายขอบข่ายฟีเจอร์การให้บริการแจ้งเตือนของทวิตเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ทุกคนสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทวิตเตอร์จึงร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (@DDPMNews), สภากาชาดไทย (@ThaiRedCross) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรไม่แสวงผลกำไร และสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยจัดการกับเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ คุณสมบัติการแจ้งเตือนอัปเดตแหล่งข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับภัยพิบัติให้บริการการแจ้งเตือนข้อมูลสำคัญและส่งเสริมข้อมูลการบรรเทาสาธารณภัย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างหรือหลังการเกิดภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลอัปเดตล่าสุดที่เชือถือได้ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉินจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสื่อมวลชน โดยเปิดให้บริการเป็นภาษาไทยบนระบบปฏิบัติการ iOS แอนดรอยด์ และ mobile.twitter.com นางสาวมนรวี อำพลพิทยานันท์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะและการให้เพื่อสังคม ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวิตเตอร์ กล่าวว่า ทวิตเตอร์เป็นศูนย์รวมของบทสนทนาระดับโลกเรียลไทม์และทันสมัยที่ทำให้ทุกคนทราบว่าในขณะนี้มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง คุณลักษณะที่สำคัญนี้ทำให้ทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ทันเวลาและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเวลามีภัยพิบัติเกิดขึ้น ทีมบรรเทาสาธารณภัยทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญนี้และใช้ทวิตเตอร์ในการติดต่อสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่และแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ในการให้ความช่วยเหลือ การปฏิบัติการกู้ภัย และการตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ การเปิดตัวฟีเจอร์การให้บริการนี้จะช่วยต่อยอดความมุ่งมั่นของทวิตเตอร์ในการร่วมมือกับทุกฝ่ายในการให้การสนับสนุนในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีสาธารณภัย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ภาคประชาสังคม และบุคคลทั่วไป เพราะการแจ้งเตือนนี้ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของภัยพิบัติแบบเรียลไทม์และอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลสำคัญล่าสุดบนท้องถนนและระบบสาธารณูปโภคที่ขัดข้อง และยังช่วยสร้างการเข้าถึงโดยตรงระหว่างพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกับทีมกู้ภัย-สำนักข่าวไทย.

เอไอเอสประกาศความพร้อมเครือข่าย 5G ใน 77 จังหวัด

กรุงเทพฯ 19 ส.ค. เอไอเอสเผยความพร้อม เครือข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด  นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า หลังจากเดินหน้าขยายเครือข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด และครอบคลุมเต็มพื้นที่ 100% นิคมอุตสาหกรรมใน EEC แล้วนั้น ในวันนี้ เอไอเอส สานต่อภารกิจฟื้นฟูประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายพื้นที่ให้บริการเครือข่าย 5G SA (Stand Alone) ครบทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญของการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่าย 5G ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรมเครือข่าย 5G จำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติของ 5G SA โดยเฉพาะ ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานทั้งด้านความเร็ว ความหน่วงต่ำ และการเชื่อมต่อเทคโนโลยี IoT จำนวนมากรวมถึง  5G Network Slicing ที่ช่วยปรับแต่งคุณสมบัติเครือข่ายและทรัพยากร เพื่อให้สอดคล้องและยืดหยุ่นกับลักษณะการใช้งานแต่ละรูปแบบ ในแต่ละพื้นที่ของภาคธุรกิจได้อย่างคล่องตัว ทำให้สามารถรับประกันคุณภาพของการเชื่อมต่อและความเร็วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเทคโนโลยี 5G Multi – access Edge Computing (MEC) ที่สามารถนำ Application Server ให้เข้าใกล้ผู้ใช้งานมากที่สุด ช่วยให้สามารถใช้งานเครือข่ายด้วยการเข้าถึงแบบไร้สาย เพื่อให้บริการประมวลผลในปริมาณมากและมีความปลอดภัยสูงสุด ก็ล้วนเป็นศักยภาพที่ทำได้เฉพาะใน 5G SA เท่านั้น  ด้วยความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเทียบเท่าระดับโลก จึงถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ที่เหมาะสมกับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลก และนำไทยก้าวสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปปัจจุบัน เอไอเอส ถือเป็นโอเปอร์เรเตอร์ ที่ให้บริการ 5G Dual Mode ทั้งแบบ SA (Stand Alone) เครือข่าย 5G เฉพาะ และ NSA (Non-Stand Alone) เครือข่าย 5G ที่ทำงานร่วมกับ 4G บนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์-สำนักข่าวไทย.

1 22 23 24 25 26 2,829
...