ระยอง 25 ส.ค. ดีป้าจับมือพันธมิตรแสดงดิจิทัลโซลูชั่น ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน-พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้แทนจาก บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด และชมรมธีราทรเพื่อผู้พิการ ร่วมออกบูธนิทรรศการ พร้อมให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจร ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชัน เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการดิจิทัลโซลูชันเด่นที่นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ประกอบด้วย แอปพลิเคชัน depa PM2.5 ที่ถูกพัฒนาขึ้นร่วมกันระหว่าง สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ดีป้า และเอไอเอส เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ใช้รับมือกับปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ สอดรับลักษณะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยได้ดำเนินการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรวจวัดได้ไปยัง“Magellen” ไอโอทีแพลตฟอร์มของ เอไอเอส ด้วยเครือข่าย NB-IoT เพื่อประมวลผล ก่อนรายงานข้อมูลทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์
Container Truck Gate Automation โดย เวริลี วิชัน เครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพของ ดีป้า ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการทำงานบริเวณทางเข้าออกท่าเรือสำหรับผู้ให้บริการท่าเรือสินค้า ผู้ให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล ให้กับวิสาหกิจชุมชน ทั้งในและการอ่านป้ายทะเบียนรถบรรทุกอัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยี Deep Learning ที่ใช้งานร่วมกับกล้องวงจรปิด และเซนเซอร์ พร้อมรองรับการทำงานของระบบช่องทางเดินรถแบบบริการตนเองอัตโนมัติ (Gate Kiosk) เพื่อให้คนขับรถสามารถยืนยันตัวตนและส่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยโครงการดังกล่าวสอดรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการเดินทาง ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
โครงการเกษตรอัจฉริยะหนุนเสริมกลุ่มครอบครัวผู้พิการ โดยชมรมธีราทรเพื่อคนพิการ ในอำเภอแกลง จังหวัดระยองโดย ดีป้า เข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในชมรมประยุกต์ใช้อุปกรณ์ไอโอทีกับระบบ Smart Farming ในการควบคุมการให้น้ำแปลงผักแบบอัตโนมัติผ่านการส่งสัญญาณจากเซนเซอร์หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการในการดูแลผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจาก 1,500 บาทเป็น 1,800 บาทต่อเดือนต่อคน
นายณัฐพล กล่าวว่า ดีป้าจะไม่คิดแทน ทำแทน หรือทำให้ แต่จะสอนให้ทุกภาคส่วนคิดเป็น ทำเป็น และทำได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตรวจสอบ และวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมประเทศก่อนเข้าสู่ยุคประเทศไทย4.0 ในอนาคตอันใกล้ -สำนักข่าวไทย.