กรุงเทพฯ 21 ส.ค. ดีแทค ย้ำยังเดินหน้าทำธุรกิจในประเทศไทยต่อ รับองค์กรตั้งปรับเปลี่ยนให้สอดรับสถานการณ์
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เ
กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 6 เดือนที่นั่งในตำแหน่งซีอีโอดีแทค พบว่าตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยมีความเฉพาะตัวในหลายด้าน ทั้งพฤติกรรมหรือความต้องการใช้งานของลูกค้ามีลักษณะเฉพาะบุคคลมาก จึงถือเป็นความท้าทายในการทำงานแต่ก็เข้าใจดีถึงกระแสข่าวด้านลบที่มีต่อดีแทค ทั้งการที่เทเลนอร์ กรุ๊ป จะยกเลิกการทำธุรกิจในไทย หรือการมีพันธมิตรต่างชาติเข้าครอบครองกิจการ และการปรับลดพนักงานล ร้อยละ50 เพื่อลดขนาดองค์กร
“ดีแทคยังคงลงทุนและจะให้บริการในประเทศไทยต่อไป บริษัทพร้อมปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถีโลกและในไทย ซึ่งจากภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะมุ่งทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิทัลต้องมาก่อน” นายชารัด กล่าว
นายชารัด กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่รวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจต้องรวดเร็วมากขึ้น และอยู่บนฐานของความต้องการของลูกค้ามากขึ้น พนักงานขององค์กรจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยดีแทคมีแนวคิดแบบ tight-loose-tight เพื่อให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายต้องชัดเจนแม่นยำ แต่เมื่อปฏิบัติต้องยืดหยุ่นพอ ขณะเดียวกัน ต้องรักษาสัญญาเพื่อให้ได้เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเชื่อว่าวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่นจะยังอยู่ไปอีกนาน และเป็นหนทางเดียวในการบริหารคนในองค์กรในบริบทเช่นนี้ ซึ่งผลจากการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ทำให้องค์กรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางและวิถีการทำงานใหม่ในการทำงาน ในการทำงานปัจจุบันร้อยละ 70 ของพนักงานไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ สะท้อนถึงการคงอยู่ของวิถีการทำงานแบบยืดหยุ่นนับต่อจากนี้ไป” นายชารัด กล่าว
นายชารัด กล่าวว่า ดีแทคไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารให้ล้ำสมัยเพื่อรองรับการใช้งานทำให้เพิ่มประสบการณ์ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น เราต้องการให้ลูกค้าได้ทดสอบเพื่อได้รับประสบการณ์ คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือย่านความถี่สูง ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความสามารถในการนำมาใช้งานเพื่อความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล และยังสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลที่มีความแม่นยำในการใช้งาน สำหรับการรองรับ 5G ไม่ใช่แค่การใช้งานบนมือถือ แต่สามารถนำมาเชื่อมต่อ Massive IoT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง และสมาคมจีเอสเอ็มรายงานในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ระบุว่ามี 70 อุปกรณ์ที่รองรับแล้ว
“ปีนี้ดีแทคมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณจำนวน 20,000 สถานีฐาน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการให้บริการ 4G และ5G ทั่วประเทศ รองรับการใช้งานที่ไม่ได้มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะพื้นที่ในเมือง ดีแทคมองว่ามีบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการด้วย TDD massive MIMO ที่มีอยู่ และไม่ได้มองว่า 5G ไม่สำคัญ” นายชารัด กล่าว
นายชารัด กล่าวว่า มุมมองเกี่ยวกับการวางแผนคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้น รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรนำคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาจัดสรรเพื่อใช้พัฒนา 5G เนื่องจากคลื่นความถี่สำคัญ เพราะร้อยละ 70 ของการทดลองทดสอบ 5G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั่วโลกเลือกใช้คลื่นในย่านนี้ เพราะมีระบบนิเวศรองรับมากเพียงพอ อาทิ อุปกรณ์มือถือ แอพพลิเคชั่น เพื่อการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม ที่หลากหลายและครบถ้วนมากกว่า อันจะทำให้ 5G ที่พัฒนาอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ดังกล่าวนี้ มี economy of scale มากกว่าย่านที่ให้บริการอยู่
“กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องดีแล้ว แต่เราต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเตรียมพร้อมคลื่นดังกล่าวให้นำมาใช้งานได้หรือรีฟาร์ม และกรอบเวลาในการประมูล เพื่อให้คลื่นพร้อมถูกนำมาใช้งานได้ในทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของการครอบครองซึ่งปัจจุบันบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ใช้งานสำหรับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 5 ขณะนี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และบริษัทไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 21 กันยายน 2564 วาระเร่งด่วนของประเทศไทยขณะนี้ คือเรื่องการกระจายสัญญาณในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการรองรับการใช้งานสำหรับคนไทยทุกคน เนื่องจากการไร้แผนรองรับการพัฒนา 5G อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอย่างอื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชนบท คนรวยและคนจน” นายชารัด กล่าว-สำนักข่าวไทย.