จับมือหัวเว่ย เพิ่มทักษะดิจิทัลให้แรงงานไทย

กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กระทรวงแรงงาน จับมือหัวเว่ย สร้างแรงงานดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับ บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือสูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตและประเทศไทย 4.0 นางนฤมล กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และให้ความสำคัญการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อม รองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจใหม่สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รัฐบาลมีแผนในการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล และให้โอกาสกับแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่แรงงานผู้พิการกว่า 2.8 ล้านคน ยังมีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแล และจำเป็นต้องได้รับการฝึกอาชีพเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งทักษะทางดิจิทัลจะช่วยแรงงานผู้พิการได้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะนำไปขยายผลและจัดโครงการให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไปเพื่อที่จะกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนพร้อม ๆ ไปกับการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 นายอาเบลเติ้ง ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า จะร่วมกันสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงานรวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (ReSkill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (UpSkil) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานช่วยลดอัตราการว่างงานเพิ่มรายได้แรงงานไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่งเพิ่มจํานวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 หัวเว่ยเชื่อว่าแรงงานที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอซีที จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ ทั้งนี้ได้มีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพเสริมสาขาการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G รุ่นแรก นอกจากนี้ยังตั้งเป้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรฝึกของกรมจำนวน 120 คนและฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไปจำนวน 3,000 คนซึ่งภายหลังการฝึกอบรมครบตามข้อกำหนดผู้จบหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรรับรองทักษะความรู้ที่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครงานและยกระดับการประกอบอาชีพในอนาคต .-สำนักข่าวไทย

บริการส่งของออนไลน์น้องใหม่บุกตลาดขายของออนไลน์

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. “ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส” รุกหนักตลาดอีคอมเมิร์ซต้นน้ำแบบมาร์เก็ตเพลสดันธุรกิจเติบโตกว่า 600% คาดสิ้นปีกวาดรายได้รวมแตะ 600 ล้านบาท นายสฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส  กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องกว่าร้อยละ 35  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคโลจิสติกส์ โดยเฉพาะภาคขนส่งด่วนเติบโตตามอย่างมีนัยยะสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ตลาดขนส่งพัสดุจะมีมูลค่ามากถึง 66,000 ล้านบาท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจออฟไลน์แบบครบวงจร หรือระบบโปรแกรมหน้าร้านเสมือนร้านสารพัดงานบริการ จึงได้เร่งพัฒนา และขยายธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ภาพรวมของตลาด ชิปป์สไมล์ ฯ  ปรับแผนธุรกิจใหม่หันมาเน้นทำการตลาดแบบต้นน้ำในมาร์เก็ตเพลส ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะไปอยู่ในมาร์เก็ตเพลส ทั้งหมดโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร์ส และSMEs โดยวางคอนเซ็ปต์ให้แบรนด์เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญสิ้นปี 63 นี้บริษัทฯคาดการณ์จะสามารถมีรายได้รวมถึง 580 ล้านบาท และจะมียอดพัสดุรวมทั้งปีทะลุ 20 ล้านชิ้นหรือโตกว่า 600% หากเทียบจากปีที่ผ่านมา(ปี 2562) ที่มียอดพัสดุเพียง 2.5 ล้านชิ้น และมีรายได้อยู่ประมาณ […]

ดับบลิวเอชเอเดินหน้ามุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ดับบลิวเอชเอ หนุนรัฐเร่งพัฒนา ‘เศรษฐกิจ ดิจิทัล’​ ชูจุดเด่นอุตสาหกรรมไทย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในปัจจุบันได้หยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทางบริษัทฯ มองว่าเรื่องของดิจิทัลกว้างมากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยปัจจุบันสมองคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเท่ากับสมองของคนทั้งโลก แต่เมื่อมองการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาภาคเกษตรที่ไม่สามารถทิ้งได้  นางสาวจรีพร กล่าวต่อว่า สินค้าเกษตรของไทยถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปได้ทั่วโลก ต้องหันกลับมาดูว่าการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้จริงหรือไม่เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี ส่วนการช่วยเหลือเรื่องภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้มากนัก มองว่าถึงเวลาที่ภาครัฐต้องนำดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อน และภาพใหญ่ที่รัฐต้องหันมาดูแลคือเรื่องสุขภาพ (เฮลแคร์) อย่าให้เป็นแค่โครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราซัคเจอร์) ซึ่งเรื่องนี้และทุกๆ เรื่องเอกชนพร้อมประสานความร่วมมือขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาครัฐทั้งสิ้น  นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนประเทศ โดยต้องหันกลับมามองว่าเราจะทำให้จุดแข็งเป็นจุดแข็งตลอดกาลได้อย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว ทั้งในเรื่องของการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตลงพื้นที่ต่างๆ แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของการกระตุ้นด้านการลงทุนมองว่าที่เขตพัฒพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)​ ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐคิดเรื่องผลกำไรตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งภาครัฐควรเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องขาดทุนก่อนโปรเจ็ค​ที่ต้องการพัฒนาถึงจะเกิด  “รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ลดการใช้เอกสารที่เป็นรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนมาเป็นทำข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น อีกทั้งต้องพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้ยังมีบุคคลที่เชี่ยวชาญจำนวนน้อยอยู่ รวมถึงต้องดูแลเรื่องค่าขนส่งโลจิสติกส์​ ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมทำแพลตฟอร์มช่วยเหลือช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในเรื่องนี้เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งให้ถูกลง”นางสาวจรีพร กล่าว-สำนักข่าวไทย.

สดช.เล็งเพิ่มส่วนแบ่งเทนดิจิทัลร้อยละ11

กรุงเทพฯ 21 ต.ค.สดช. ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่ง ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เป็นร้อยละ 11 หลังอันดับความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น1 ระดับ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า หน่วยงานมีภาระกิจสำคัญ ได้แก่ 1. การทำเรื่องความปลอดภัยการขับเคลื่อนดิจิทัล ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล การพัฒนากำลังคน รัฐบาลด้จิทัล และการสร้างความเชื่อมั่น 2.เป็นเลขาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการ 5จี และ3.กองทุน ซึ่งกองทุนมีให้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงมีหน่วยงานตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ เพราะมองว่าไม่มีทางที่จะมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเห็นการเริ่มเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน อาทิ หลายส่วนราชการพัฒนามาให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปรับบริการผ่านสาขาตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น โดยมองว่าดิจิทัลจะสร้างคุณค่าและประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับคนที่รู้เท่าทันและใช้ประโยชน์ได้ นางวรรณพร กล่าวว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือนำมาทำให้เกิดการเชื่อมต่อกระบวนการ และทำงานได้เร็วขึ้น มองว่าการเชื่อมต่อกระบวนการเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่เศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดรายได้มหาศาลในประเทศไทย โดยได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ5จี ได้หารือกันในส่วนของวิธีการเดินทางของ 5จีต่อไป หลังจากมีการประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการ (โอเปอร์เรเตอร์) จะต้องนำคลื่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งความแข็งแรงของประเทศไทยอยู่ในภาคการเกษตร และเกษตรกรกว่าร้อยลั 80อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยหน่วยงานได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในการประเมินกระบวนการทำงาน อาทิการทำแปลงผัก ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีแดดส่องหรือปริมาณน้ำมากในส่วนใดบ้าง จึงจะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ โดยจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาสู่การทำปัญญาประดิษฐ์ต่อไป ซึ่งการลงทุนโครงข่าย 5จี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องลงทุนสูง แต่รัฐก็ลงทุนและร่วมมือกับผู้ให้บริการต่อไป ซึ่งโครงการเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถเพิ่มรายได้มากขี้น และลดจำนวนแรงงานคน นางวรรณพร กล่าวว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (IMD) ล่าสุดประเทศไทยมีอันดับปรับเพิ่มขึ้นมา 1 อันดับ จากอันดับที่ 40 มาอยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งเป็นผลจากความเร็วอินเตอร์เน็ตปรับขึ้นมาดีขึ้น เพราะมีการส่งเสริมเน็ตประชารัฐ และด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทำให้การส่งเสริมนำดิจิทัลไปใช้ในหัวเมืองต่างๆ ปรับขึ้นมาดีขึ้นกว่า8 อันดับ ทำให้เห็นว่า การทำของประเทศไทยถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะประเทศอื่นในสากล ให้ความยอมรับว่าประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น โดยในอนาคตคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยที่แบ่งสัดส่วนมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงที่ยังไม่ได้เกิดการระบาดโควิด-19 แต่หลังมีการระบาดเข้ามา ก็มองว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9-10 โดยเชกเตอร์แรกที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้มากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมการค้า และท่องเที่ยว ตามลำดับ  “ในฐานะภาครัฐ มีการมองการพัฒนาในทุกส่วนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรากหญ้า ซึ่งมีศูนย์ดิจิทัลชุมชนกว่า 2,200 แห่งทั้วประเทศ ในปี 2563 ได้งบประมาณมาพัฒนาศูนย์ 250 แห่ง ดูแล 3 ปี ปี 2564 อีก 250 แห่ง และปี 2565 อีก 270 แห่งเฉลี่ยจังหวัดละ 10 แห่ง โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะมีคอมพิวเตอร์ให้บริการ และมีจัดโซนสตูดิโอไว้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถถ่ายรูป และนำรูปประกอบการจำหน่ายสินค้าด้วย เป็นการร่วมมือกับทั้งระหว่างรัฐเองและเอกชนด้วย” นางวรรณพร กล่าว นางวรรณพร กล่าวว่า ภาครัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยอุตสาหกรรมอวกาศจะต้องขยายเพิ่มเติม นอกเหนือจากดาวเทียม แต่หมายถึงดาวเทียมระพับล่าง ที่ทำเรื่องวิเคราะห์ และวิจัย เพื่อจัดเก็บข้อมูลได้ ในส่วนของข้อมูล (เดต้า) มองว่าข้อมูลในส่วนของภาครัฐ เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทุกกระทรวงจะต้องจัดทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงจัดประเภทข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกจัดกลุ่มว่า สามารถเปิดเผยได้ หรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งจะต้องแยกอีกว่าเป็นความลับขั้นใด เพื่อให้จัดกลุ่มข้อมูล และใช้งานร่วมกันได้ แต่การจัดเก็บข้อมูลขะต้องมีความปลอดภัยสูงที่สุด เพื่อนำไปสู่การทำศูนย์ข้อมูล (เดต้า เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนี้มีต่างชาติหลายประเทศ ที่ต้องการเข้ามาทำเดต้า เซ็นเตอร์ใยประเทศไทย ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ จะต้องย้อนกลับไปที่คนว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้หรือไม่ เพราะหากมีเทคโนโลยี มีข้อมูลแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง โดยปัญหาของภาครัฐคือ ในระยะเริ่มต้นจะต้องหาวิธีในการทำให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดใช้งานร่วมกันได้ให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้แหล่งการเก็บข้อมูลกลายเป็นสุสานข้อมูลในอนาคต-สำนักข่าวไทย.

ซีกรุ๊ปหนุนรัฐเข้าเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ซีกรุ๊ปขอเป็นส่วนช่วยเร่งให้ประเทศไทยมี ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ เกิดเร็วขึ้น นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea Group (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ การีน่า (Garena) แอร์เพย์ (Airpay) และช้อปปี้ (Shopee) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า เศรษฐกิจจิทัล เป็นวาระการประชุมระดับโลก (global agenda) ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศให้ความสำคัญ และเรื่องนี้อยู่กับเรามานานมากแล้ว แต่อาจไม่ได้มีความเข้าใจดีเท่าที่ควร จนมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อให้เห็นความสำคัญของดิจิทัล ว่ามีความสำคัญมากเท่าใด โดยในแง่ของประเทศไทย เศรษฐกิจดิจิทัลมีการพูดถึงมานานแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ มองว่ามีความเหมือนกันตรงที่คนไทยมีความพร้อม เรื่มมีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญ ในการเริ่มประเมินว่าจะนำดิจิทัลเข้ามาพัฒนาในแง่องค์กร หรือในแง่อุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศก็เห็นตรงนี้เช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในส่วนของความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากัน รวมถึงการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาลก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงจุดขายและจุดเด่นของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และประเทศท่องเที่ยว ทำให้ต้องมองว่า ต้องหาวิธีในการนำเทคโนโลยีเข้ามาผูกกับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์ในแง่ของภาพรวม ซึ่งทุกประเทศจะแตกต่างกันในจุดนี้ “บริษัทฯ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ พบว่า ผู้ที่ไม่เคยสั่งอาหารออนไลน์ก็หันมาสั่งอาหารออนไลน์ร้อยละ 35 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือแท็ปเล็ต เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 40 โดยมีการสำรวจว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือไม่ ซึ่งพบว่าจากผลสำรวจกว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าแม้จะผ่านช่วงล็อกดาวน์ หรือพ้นการระบาดโควิด-19 แล้ว แต่พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ หรือการอยู่ในโลกออนไลน์ จะยังคงดำเนินการและใช้งานอยู่ตามปกติ สะท้อนให้เห็นว่าคนบางส่วนมีความพร้อมในการขยับเข้าไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่พูดถึงกันตอนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมี และทุกคนต้องทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องความสวยงามหรือหรูหราอีกต่อไป” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว นางสาวมณีรัตน์ กล่าวว่า การจะไปให้ถึงดิจิทัลเนชั่นได้ มีความท้าทายอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การหาวิธีทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเท่าเทียมกันในทุกบุคคล ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเมืองเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด หรือในพื้นที่ห่างไกล ต้องหาวิธีทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ถือเป็นเกมที่มีความท้าทายมาก และ 2.การหาวิธีทำให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มองว่ากลุ่มคนต้องการเห็นความท้ายทายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงระบบการศึกษา และตัวบุคคล ที่จะต้องร่วมมือกันในการหาวิธี ทำให้ความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นจริงให้ได้ ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นแพลตฟอร์มให้บริการสินค้าอินเตอร์เน็ต ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยผลักดันหรือเป็นหนึ่งในตัวเร่งได้ อาทิช้อปปี้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ จะหาวิธีทำให้คนค้าขายสินค้าออฟไลน์ ปรับมาขายสินค้าออนไลน์ได้เพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับไปรษณีย์ไทย และกระทรวงดีอีเอส ในการจัดทำแคมเปญเพื่อกระตุ้น และช่วยเหลือผู้ขายสินค้า ให้สามารถขายสินค้าได้ในต้นทุนที่ถูกลง ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยขายสินค้าออนไลน์ ก็จะเข้าไปให้องค์ความรู้ และฝึกฝนให้สามารถขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่มีได้ นางสาวมณีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร และผู้ขายในต่างจังหวัดต่างๆ จะหาวิธีในการนำกลุ่มคนเหล่านี้ เข้ามาขายสินค้าในโลกออนไลน์เพิ่มเติม สิ่งที่เร็วที่สุดและทำได้ในวงกว้างมากที่สุดคือ การร่วมมือกับภาครัฐอาทิ การร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลูกหรือผลิตเอง มาขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ตั้งเป้าหมายในปี 2563 จะฝึกทักษะเกษตรกรให้ได้ 1,000 ราย และสามารถนำสินค้าต่างๆ มาขายบนช้อปปี้ได้ โดยหากเทียบประเทศไทยกับต่างชาติ อาทิ อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่ต้องยกเป็นกรณีศึกษา เพราะมีประชากรในประเทศกว่า 250 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ จึงมีความน่าสนใจอยู่แล้ว แต่หากเทียบกับประเทศที่แข่งขันกับไทยอย่างชัดเจน คือ เวียดนาม แม้จะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น แต่ยังมีบางด้านที่ล่าช้ากว่าไทย ประเทศไทยจึงยังมีความน่าสนใจอยู่มาก ประกอบกับคนไทยก็มีลักษณะพร้อมเรียนรู้ มีการตอบรับรวดเร็ว ชอบก็คือชอบ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ องคก์กรส่วนใหญ่จึงอยากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย “เมื่อสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว จะทำอย่างให้สามารถใช้งานเป็น เรื่องการพัฒนาทักษะดิจิทัล และการสร้างความคุ้นชิน เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะต้องการเป็นส่วนช่วยผลักดันให้มีการสร้างบุคคลที่มีทักษะดิจิทัลเกิดขี้นกว่า 10 ล้านคนภายใน 10 ปี ซึ่งในแง่ของการสร้างทักษะดิจิทัล เพื่อสร้างอาชีพ บริษัทฯ ก็ทำงานร่วมงานกับสถาบันการศึกษา 7 แห่งในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักศึกษาที่จะจบมา สามารถได้เรียนรู้งานจริงตั้งแต่การเรียน เพื่อให้จบมาแล้วมีความพร้อมในการทำงานทันที ซึ่งมองว่าเป็นหลักที่จะช่วยสร้างบุคลากร เพื่อสนับสนุนแรงงานในโลกธุรกิจ” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ปณท.เดินทำแพลตฟอร์มตู้แดง

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ไปรษณีย์ไทยลั่นเชื่อมโลกการสื่อสาร ลุยแพลตฟอร์มตู้แดงแรงฤทธิ์ยกระดับการจัดส่งดูแลประชาชน นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ“รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่า คนไทยยังไม่มีการเข้าถึงเทคโนโลยีมากนัก วัดได้จากการส่งอีเมล์มีเพียงร้อยละ 15เท่านั้น  ในเรื่องนี้ ปณท จึงได้เข้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกเก่า หรือการสื่อสารที่จับต้องได้ และโลกใหม่ หรืออิเล็กทรอนิกส์เมลล์ที่มีการยืนยันการส่งที่ชัดเจน ปัจจุบันหลายฝ่ายอาจมองว่า ปณท หันมาส่งวัสดุที่เป็นกล่องเยอะ เพราะไม่อยากให้ค่าแสตมป์ 3 บาทแพง แต่เนื้อแท้ ปณท อยู่ทั่วประเทศ จึงมียุทธสาตร์ที่รู้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งถือเป็นทักษะพิเศษที่ ปณท มีและสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ นายก่อกิจ กล่าวว่า ปณท เชื่อมต่อการขนส่งทั่วประเทศ การดำเนินงานในช่วงโควิด-19 ปณท ได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ส่งของถึงหน้าบ้าน ถึงแม้จะไม่มีกำไรแต่ก็ต้องช่วยกันในภาวะเช่นนี้ แต่สิ่งที่คนอาจลืมไป ปณท ยังขายแสตมป์ ที่สามารถยืนยันการส่งจดหมายได้ในกรณีมีการฟ้องร้องสามารถใช้ยืนยันได้ในชั้นศาล เพราะปณท อยู่ในสหภาพไปรษณีย์ระหว่างประเทศ หรือยูพียู เป็นบุคคลที่ 3 ที่สามารถยืนยันข้อมูลให้ได้ ซึ่งเนื้อแท้ของไปรษณีย์ไทยเป็นคนกลางที่เชื่อมการสื่อสารทั้งแบบที่จับต้องได้ และการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน ปณท ได้ทำระบบจัดการเอกสารดิจิทัล (ทีดีเอช) ผ่านแพลตฟอร์ม ตู้แดงแรงฤทธิ์ ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทดแทนการจัดส่งแบบเดิม เพื่อบริการที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ ได้จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการแล้ว  นายก่อกิจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) แสดงให้เห็นว่ามีประชน กว่าร้อยละ 85 ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการส่งเมลแบบอิเล็กทรอนิกส์เมลไม่ได้ ดังนั้น ปณท ยังต้องเป็นตัวเชื่อมในเรื่องของการสื่อสารของทั้งระบบออนไลน์ และออฟไลน์อยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อสารไม่ขาดตอน ถือเป็นนิยามใหม่ของไปรษณีย์ไทย หากเอกชนอยากจะเข้าต้องจ่ายเงินเข้ามาไม่สามารถเข้ามาดึงข้อมูลแบบฟรีๆ ได้ ทั้งนี้ หากในกรณีคนรับอีเมล ไม่อ่านเกิน 3 วัน ไปรษณีย์ไทยจะปริ้นข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปส่งถึงบ้าน และยืนยันว่าไม่มีการเปิดอ่านก่อนผู้รับ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับการส่งจดหมายตามปกติ นายก่อกิจ กล่าวว่า การขับเคลื่อนหลังจากนี้ ปณท มีบริษัทลูก คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่มีลักษณะการทำงานแบบจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จึงได้จัดทำแพลตฟอร์มระวางว่าง ที่เปรียบเหมือนตลาดกลางในการขนส่งสินค้าโดยให้ใช้ฟรี แต่ถ้าต้องการให้ไปรษณีย์ไทยดูแลเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือเรียกว่ารูปแบบพรีเมียม ซึ่งหัวใจหลักของระวางว่างคือช่วยกลุ่มคนตัวเล็กให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด โดยเพิ่มรายได้ในส่วนขากลลับที่ปกติจะตีรถเปล่ากลับให้สามารถขนส่งสินค้ากลับมาด้วยได้ และช่วยให้คนซื้อมีโอกาสได้เลือกการขนส่งที่มีราคาที่ถูกลงอีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดทำหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากผ่านการอนุมัติจะเสนอขอเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กองทุนดีอี) ต่อไป-สำนักข่าวไทย.

สภาดิจิทัลแนะดึงบริษัทใหญ่ลงทุนเพิ่มทักษะแรงงานดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. สภาดิจิทัลแนะ 3 ด้านดันไทยมุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุน พัฒนาทักษะแรงงาน รัฐปรับตัวบูรณาการข้อมูลทุกภาคส่วน งานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดยบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) นายวีระ วีระกุล รองประธานและประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ว่า พันธกิจของสภาฯคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะปัจจุบันมีคนไทยไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ตัวอย่างโควิด-19 คือตัวเร่งดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างการช่วยเหลือของภาครัฐก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย  เพื่อพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมีได้ ต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อน ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าทำวันนี้จะได้เทคโนโลยีล่าสุดวันนี้ องค์ประกอบที่ไทยต้องมีคือความรู้ ในแง่เทคโนโลยี และความพร้อมของประชาชน ธุรกิจ และรัฐบาลในการรับแต่ต่อยอด ยกตัวอย่างหากรัฐบาลประกาศว่าวันที่ 1 มกราคม 2026 ธุรกรรมที่ทำกับภาครัฐจากกระดาษจะเป็นดิจิทัลทั้งหมด จะเป็นการปลุกทุกส่วนอย่างรุนแรงให้เข้าสู่ดิจิทัล ไทยต้องก้าวสู้ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีไม่ใช่ประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี อยากถามว่ามีใครรู้จักมือถือที่ผลิตโดยคนไทยบ้าง ซึ่งปัจจุบันเราต้องพัฒนาส่วนนี้ให้ได้ ขณะที่ซอฟแวร์ต่างๆคนมักนึกถึงต่างประเทศ แต่จริงๆแล้วมีแพลตฟอร์มของไทยไม่น้อยกว่าร้อยบริษัท หน้าที่ของสภาฯยกศักยภาพบริษัทเหล่านี้ให้ทัดเทียบต่างชาติ ขณะที่ด้านการพัฒนาคนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างนักศึกษาจบด้านการวิจัยแต่ไม่ได้ทำงานด้านนี้ การจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดิจิทัลอีโคโนมี สำหรับประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในอนาคตสภาฯมองว่าควรมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ ต้องเชิญชวนผู้พัฒนาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย บริษัทระดับโลกต่างๆซึ่งเกณฑ์ตัดสินใจคือ ภาษีเงินได้บุคคล และภาษีเงินได้นิติบุคคล เรื่องนี้ภาครัฐต้องพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นที่ดึงดูดการลงทุนเช่นกัน นอกจากนี้ต้องพัฒนาสตาร์ตอัพไทย ปัจจุบันเอกชนมีการตั้งกองทุนสนับสนุน นอกจากนี้ต้องพัฒนาคนให้เข้าใจในการทำธุรกิจ รู้จักลูกค้า คู้ค้า ต่อมาคือเทคนิคัลสกิล ไม่ใช่แค่โปรแกรมเมอร์แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น และอนาเลติกสกิล คือการรู้วิเคราะห์และทักษะ ต้องฟังเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็นตอนนี้ระดับการใช้งานดิจิทัล เปิดปิดเครื่องมือได้ ไทยร้อยละ 25 ส่งอีเมลได้ร้อยละ 15 ทำพาวเวอร์พอยต์ได้ ครีเอทได้ร้อยละ 9 และสามารถเขียนโปรแกรมได้ร้อยละ 1 ดังนั้นไทยต้องพัฒนา ล่าสุดสภาดิจิทัลจะสร้างแฟลตฟอร์มสาธารณะ เมื่อให้ความรู้ประชาชน ใช้ชีวิต เรียนรู้ และมีเอกชนช่วย และเสนอเปลี่ยนการเรียนใหม่จากการเรียนในห้องเป็นสหศึกษา รวมทั้งขอความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่น ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยช่วย  อยากให้รัฐ เอกชน ตั้งโจทย์ และให้นักศึกษาเป็นสตาร์ตอัพ เรามี 5,000 โครงการ โครงการละ 10 คน ตั้งโจทย์ที่เป็นไปได้ เมื่อสร้าง 5,000 บริษัท ถ้ารอดแค่ 50 บริษัทเกิดสตาร์ตอัพได้ก็ดีแล้ว  นอกจากนี้ภาครัฐต้องแปลงข้อมูล เน้นกระทรวงที่เป็นอนาล็อก ใช้กระดาษ ให้คนอ่าน ในด้านโรงพยาบาลการแปลงกระดาษสู้ดิจิทัลจะมีช่องทางอีกมหาศาล เป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ต้องแปลงดาต้าอนาล็อกสู้ดิจิทัล ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องบูรณาการขับเคลื่อนประเทศ รัฐ เอกชน ประชาชนต้องร่วมมือ ใช้จังหวะโควิดตอนนี้การทำให้ดิจิทัลยั่งยืนเป็นโครงสร้างที่สำคัญ ไม่อยากให้มีนโยบายแค่มีบิ๊กดาต้าในภาคราชการ เพราะต่างคนต่างทำ ดังนั้นต้องมีผู้นำเบอร์1 แต่ละด้านร่วมมือกัน โครงสร้างนี้ทำยังไงให้โปร่งใส โครงสร้างนี้ขับเคลื่อนยังไง ต้องเอาโครงสร้างสมัยใหม่มาใช้ มีการชี้วัดผลคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ .-สำนักข่าวไทย

วว.หนุนผู้ประกอบการหาอัตตลักษณ์แบรนด์เพิ่มความสามารถแข่งขัน

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. วว. ขับเคลื่อนโทเทิ่ลโซลูชั่นสำหรับเอสเอ็มอี  ในงานโพรแพ็คเอเชีย 2020 เปิดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการค้นหาอัตลักษณ์แท้จริงของแบรนด์เสริมแกร่งการแข่งขันในตลาดโลก นางชุติมาเอี่ยมโซติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. มีพันธกิจหลักคือสนับสนุนผู้ประกอบการ โอท้อปเอสเอ็มอี จากประสบการณ์พบว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกดังนั้นเพื่อให้ความคิดเป็นรูปธรรมวว. จึงได้ออกแบบหลักสูตรค้นหาแบรนด์กำหนดทิศทางของแบรนต์และองค์กรด้วยดีเอ็นเอเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแบรนด์หรือ“ Brand DNA” เพื่อต่อยอดสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งกราฟิกดีไซน์และการเลือกใช้ประเภทวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสินค้าโดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการตลาดมาแบ่งปันความรู้โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้ได้ตัวตนที่แท้จริงก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบตราสินค้าหรือแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ตลอดจนแนวคิดในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทั้งนี้วว. จัดกิจกรรม“ Brand DNA” เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วโดยเฉพาะรูปแบบ Road show 4 ภาคซึ่งผู้ประกอบการให้การตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากด้วยภารกิจของวว. ที่ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งไม่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้นจึงได้ขยายการอบรมไปทั้ง 4 ภูมิภาคคือภาคเหนือภาคอีสานภาคใต้และภาคกลางซึ่งมีมากกว่า 500 บริษัท ที่ร่วมส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการโดยทางวว. ได้คัดสรรผู้ประกอบการกว่า50 รายเพื่อเข้าอบรมแบบเข้มข้นในการค้นหา DNA ของผลิตภัณฑ์และในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 6 วว. เริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าเยี่ยมชมตัวอย่างผลงาน“ Brand DNA” ได้ที่บูธนิทรรศการแสดงผลงานของวว. ในงาน PRO PAK ASIA 2020 ณ Hall 103 ไบเทคบางนาได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2563“ … Packaging จะไม่ใช่แค่เพียง Packaging อีกต่อไปหากคุณเข้าใจ DNA ของผลิตภัณฑ์เมื่อเข้าใจผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ถึงคุณสมบัติจะสามารถถ่ายทอด DNA ออกมาทาง Package ได้เป็นอย่างดี  นางชุติมา กล่าวต่อว่า การสนับสนุนผู้ประกอบภายใต้กิจกรรม“ Brand DNA” วว. จะให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีไอเดียดีๆรวมถึง Start-up ที่มีความคิดมีไอเดีย แต่ยังไม่มีช่องทางไม่มีอุปกรณ์ในการเริ่มต้นผลิตสินค้าในส่วนนี้วว. พร้อมเสมอที่จะสนับสนุนนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยวว. มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีบุคลากรโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งเครื่องมือพร้อมใช้ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถผลิตสินค้าและทำสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อทำความฝันของผู้ประกอบการให้กลายเป็นความจริงมีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ-สำนักข่าวไทย.

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเล็งหาเทคโนโลยีใหม่ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวใหญ่ยุคดิจิตอล-โควิด -19 หาเทคโนโลยีใหม่เสริมทัพพบผู้นำนวัตกรรมร่วมเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าทั่วโลก นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคดิจิทัลและโควิด -19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านเป็นชีวิตวิถีใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัวเช่นเดียวกับภาคอุคสาหกรรมการผลิตที่มีการพัฒนาและปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัววันนี้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมมนุษย์ในทุกด้านทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต เห็นได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกขนาดโดยเฉพาะขนาดกลางขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพต้องยกระดับปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการผลิต (Transformation) โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มากขึ้นพร้อมศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการและเป็นที่ยอมรับของตลาดด้าน นายมนู เลี่ยวไพโรจน์ ประธานอินฟอร์มามาร์เก็ตส์ประเทศไทย กล่าวว่า งานโพรแพ็คเอเชีย 2020 เป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่นำเสนอโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มยาและเวชภัณฑ์เครื่องสำอางและสินค้าอุปโภคบริโภคถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยซึ่งวันนี้ได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 มากบ้างน้อยบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้นโดยมีโควิด -19 เป็นตัวเร่งสำคัญ  การจัดงานโพรแพ็คเอเชีย 2020 ต้องการมีส่วนช่วยให้ธุรกิจมีการเจรจาและมีมูลค่าการค้ามากขึ้นพร้อมทั้งเน้นในการอัปเดตเทรนด์ที่เกิดขึ้นทามกลางสถานการณ์โควิด -19 แนวโน้มสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและนักธุรกิจได้ติดต่อพูดคุยกันโดยตรงการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) รวมถึงการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มองเห็นแนวทางของอุตสาหกรรมด้านกระบวนการผลิตการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ในอนาคตรูปแบบการจัดงานจะเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid Exhibition) โดยรวมการจัดงานแสดงสินค้าเจรจาธุรกิจแบบทั่วไป (Physical Exhibition) และการจัดงานแสดงสินค้าแบบออนไลน์ (Virtual Exhibition) สามารถนัดหมายเจรจาธุรกิจล่วงหน้ารวมถึงชมกิจกรรมสัมมนาที่จะเกิดขึ้นภายในงานฯ ได้ตลอดระยะเวลาของการจัดงานฯ สำหรับธุรกิจในกลุ่มเอสเอ็มอีมีการเปิดพื้นที่โซนเอสเอ็มอีขึ้นโดยเฉพาะโดยมีไฮไลท์คือกิจกรรมให้ความรู้คำปรึกษานำเสนอไอเดียใหม่ในการทำธุรกิจอาทิศูนย์ที่ปรึกษาธุรกิจเอสเอ็มอี (SME Consultation Center) ซึ่งมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาให้คำปรึกษาสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจรวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีพร้อมโครงการส่งเสริมต่างๆทั้งการประกวด ThaiStar Packaging Awards การบ่มเพาะ Brand DNA เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้า IDEA Theatre เพิ่มความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างแบรนด์และเวทีถ่ายทอดความสำเร็จจากสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการชั้นนำนอกจากนั้นยังมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงสินค้าที่รณรงค์ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนทางสังคม Sustainability Square เป็นพื้นที่จัดแสดงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างการเรียนรู้ในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ว่าจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างไรภายใต้พันธสัญญาที่ทุกคนจะต้องสร้างความยั่งยืนให้กับอนาคตร่วมกันและได้นำเสนอให้ผู้ร่วมงานเห็นการมีส่วนร่วมของผู้จัดงานแสดงสินค้าในการเป็นผู้จัดงานที่สร้างความยั่งยืน งานปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมชมงานกว่า 23,000 คนหวังใช้งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมเป็นทางลัดพัฒนาธุรกิจชี้ไฮไลท์สำคัญปีนี้เน้นจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุคใหม่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์(Robot) อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IOT) พร้อมเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และที่งานแสดงจริงที่ไบเทคบางนา-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอาแจงปิดกันสื่อโซเชียลเฉพาะที่ขัดกฎหมายยันไม่กระทบภาพรวม

กรุงเทพฯ 20 ต.ค. ดีอีเอส ยืนยันปิดเฉพาะโซเชียลทำผิดกฎหมาย เชื่อไม่กระทบผู้ใช้ออนไลน์ในภาพรวม นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังการ แถลงข่าวร่วมกับกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) วันนี้ (20 ต.ค.) ว่า จากการที่ดีอีเอส ตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุม และได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคง เพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประสานงานการตรวจพบการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดำเนินการร้องขอคำสั่งศาลในการระงับหรือลบข้อมูลผิดกฎหมายนั้น ล่าสุดแม้มีการตรวจพบข้อความที่มีการละเมิดกฎหมายกว่า 3 แสนเรื่อง แต่ในแง่การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในช่วง 2 วันที่ผ่านมามีเพียง 58 ราย  ในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย การกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาตรา 14 จำนวน 24 ราย โดยเป็นการนำเข้าข้อความเป็นเท็จ หลอกลวง สร้างผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง และยุยุงปลุกปั่น เป็นต้น ที่เหลือเป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 32 ราย และอื่นๆ 2 ราย ซึ่งกระจายเผยแพร่อยู่ในหลากหลายแพลตฟอร์มโซเชียล “ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนและผู้ใช้งานออนไลน์/โซเชียลว่า ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น เราจะดูเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และกระทบคนส่วนใหญ่ที่มีการใช้ช่องทางเหล่านี้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ หรือการทำธุรกิจ ในการขอความร่วมมือแพลตฟอร์มเพื่อระงับ/ปิดกั้นการเข้าถึง เรามุ่งดำเนินการเฉพาะกับเฉพาะรายการโพสต์/ยูอาร์แอลที่มีข้อความผิดกฎหมาย ไม่ใช่การขอคำสั่งศาลเพื่อปิดแพลตฟอร์มทั้งระบบ แต่จะเป็นบางรายการที่มีความผิดชัดแจ้ง ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ต้องกังวลใจ” นายภุชพงค์กล่าว รองปลัดดีอีเอส กล่าวอีกว่า ล่าสุดในจำนวน 58 รายที่เข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายมีการปิดกั้นไปบางส่วนแล้ว ขณะที่ ความคืบหน้าของการระงับการเผยแพร่ของสื่อที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ดีอีเอส ดำเนินการตรวจสอบและระงับการเผยแพร่ของสื่อที่เข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ทางดีอีเอสได้ตรวจสอบ ประมวลโดยฝ่ายกฎหมาย เสนอศาลปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อ 4 องค์กร ได้แก่ วอยซ์ทีวี ประชาไท  The Reporters และ The Standard  วันนี้ (20 ต.ค. 63) ศาลมีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ทีวี แล้ว ส่วนอีก 3 สื่อยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ส่วนกรณีแอปพลิเคชั่นเทเลแกรม (Telegram) จากการที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ ของดีอีเอส ตรวจพบการใช้แอปดังกล่าวในการนัดหมาย เชิญชวนชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงแจ้งเรื่องไปยัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อรับทราบและพิจารณาข้อมูลดังกล่าว หลังจากนั้น ฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้มีคำสั่งที่ 11/2563 เรื่อง ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะ โดยให้สำนักงาน กสทช. และดีอีเอส ดำเนินการเพื่อให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ (เทเลแกรม) นายภุชพงค์ กล่าวย้ำว่า การที่ กอร.ฉ. มีคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การปิดระบบหรือการเข้าถึงแอปเทเลแกรมทั้งหมด ในส่วนผู้ใช้งานทั่วไป ยังคงสามารถใช้งานได้ปกติ แต่จะดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะกลุ่มสนทนา หรือกลุ่มผู้ใช้งาน ที่ใข้แอปนี้เพื่อเชิญชวนหรือนัดหมายการชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ขอเรียนว่ากระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตามขั้นตอนตามกฎหมาย และมีการขอความเห็นชอบต่อศาลมาโดยตลอด ไม่มีการทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ โดยเคารพสิทธิการเข้าถึงสื่อทุกประเภทของประชาชนโดยเสรี ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายภุชพงค์กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ไลน์บีเคบุกสินเชื่อไมโครเจาะฐานลูกค้ารายย่อยชูบริการสินเชื่ออนุมัติไว

กรุงเทพฯ 20 ต.ค. ไลน์บีเค บุกไมโครไฟแนนซ์ ชูให้สินเชื่ออนุมัติเร็วตั้งเป้าผู้ใช้ปีแรกหลักล้าน นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกรไลน์ จำกัด กล่าวว่า LINE BK คือการเชื่อมโลกโซเชียลและโลกดิจิทัลแบงกิ้งเข้าด้วยกัน LINE BK เป็นการสร้างประสบการณ์การเงินออนไลน์ให้สะดวกและรวดเร็ว บนความปลอดภัยในมาตรฐานระดับเดียวกับธนาคารกสิกรไทย LINE BK เกิดจากความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย (ลงทุนผ่าน บริษัท กสิกรวิชั่น จำกัด หรือเควิชั่น) และไลน์(ลงทุนผ่าน บริษัท ไลน์ไฟแนนเชียลเอเชีย)  “ความพร้อมของคนไทยในการใช้บริการธนาคารผ่าช่องทางออนไลน์มีมากอยู่แล้ว ประชากร 69 ล้านคน เข้าถึงโมบายอินเทอร์เน็ต 50 ล้านคน ใช้งานโมบายแบงค์กิ้ง 93 ล้านราย เราจึงเอาความแข็งแรงทางโซเชียล ของไลน์ และการเป็นธนาคารที่มีผู้ใช้บริการทางออนไลน์ ที่มีมูลค่าธุรกรรมในครึ่งปีแรกของปีนี้ที่ 1.7 พันล้านบาทของ เคแบงค์”  นายธนา กล่าวอีกว่า LINE BK เป็นบริการเต็มรูปแบบผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังนี้บริการบัญชีเงินฝากครอบคลุมบริการโอนถอนจ่ายทำทุกอย่างได้บน LINE ไม่ต้องสลับแอปพลิเคชันไม่ต้องจำเลขบัญชีทั้งการโอนเงินได้ในแชทพร้อมการแจ้งเตือนยอดเงินเข้า-ออกเช็คยอดได้เรียลไทม์และฟีเจอร์อื่น ๆ เช่นการส่งสลิปแบบพิเศษพร้อมลายคาแรคเตอร์จาก LINE ได้ทันที, บริการขอเรียกเก็บเงินและการหารค่าใช้จ่ายกับเพื่อนใน LINE รวมไปถึงการถอนเงินสดไม่ต้องใช้บัตรได้ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศบริการบัญชีเงินออมดอกพิเศษบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษสูงสุดถึงร้อยละ 1.5 ต่อปีโดยมีบราวน์โคนีและแซลลีมาเป็นผู้ช่วยในการเก็บเงินทำให้การเก็บเงินเป็นประสบการณ์ใหม่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไปสามารถกำหนดระยะเวลาออมเงินได้เองทั้งแบบระยะสั้น 6 เดือนหรือระยะยาว 12 เดือนบริการบัตรเดบิต บัตรเดบิตวีซ่า LINE BK ให้เงินคืนร้อยละ 0.5 เมื่อซื้อของออนไลน์ 100 บาทขึ้นไปโดยมีบัตรให้เลือกถึง 3 ประเภทเหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ทั้งบัตรเดบิต (Debit Card) ที่มาพร้อมลายคาแรคเตอร์น่ารักสดใสจาก LINE ทั้งบราวน์โคนีและแซลลีบัตรเดบิตออนไลน์ (Online Debit Card) ที่สามารถสมัครและใช้งานได้ทันทีบนแอปพลิเคชัน LINE และบัตรเดบิตคู่วงเงินที่สามารถแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อยอดเงินในบัญชีไม่เพียงพอพร้อมให้ดึงเงินจากวงเงินให้ยืมมาใช้จ่ายต่อได้ทันทีไม่มีสะดุดบริการวงเงินให้ยืม บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัลผู้ใช้บริการสามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลาอนุมัติไวเบิกเงินเข้าบัญชีได้ทันทีโดยผู้มีรายได้ขั้นต่ำแค่ 7,000 บาท จะสามารถขอสินเชื่อได้ช่วยปลดล็อคข้อ จำกัด ให้กับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีสลิปเงินเดือนเช่นฟรีแลนซ์และผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก นายธนา กล่าวว่า อีกจุดเด่นของ LINE BK คือการตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมที่มากขึ้นการให้บริการวงเงินให้ยืมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะฉีกกรอบการกู้ยืมเงินในรูปแบบเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับการกู้ยืมเงินแบบทั่วไป LINE BK จะมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงของการอนุมัติสินเชื่อที่แตกต่างโดยใช้รูปแบบเฉพาะที่จะนำข้อมูลทางการเงินและโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ร่วมกันทั้งนี้ LINE BK มีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในทุก ๆ ส่วนโดย LINE BK จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาของการสื่อสารของลูกค้าและจะไม่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลอย่างเด็ดขาดในด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับลูกค้า LINE BK มีขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้อย่างเป็นระบบโดยมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยแบบหลายชั้นรวมถึงการเข้ารหัสความปลอดภัยของโครงสร้างระบบเครือข่ายและบริการ (Network and Application Encryption) และการปกป้องข้อมูลด้วยการเข้ารหัสฐานข้อมูลในรูปแบบเฉพาะ (Database Encryption) เพื่อให้ผู้ใช้บริการ LINE BK มั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด” LINE BK จะยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การเงินในชีวิตประจำวันที่สะดวกและปลอดภัยให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้นและมีความเข้าใจในการเงินส่วนบุคคลมากขึ้นโดยตั้งเป้าหมายให้ LINE BK ขึ้นเป็น 1 ใน 5 บริษัท ชั้นนำด้านธุรกิจการให้บริการสินเชื่อภายในระยะเวลา 5 ปีพร้อมทั้งขยายบริการไปสู่บริการด้านการลงทุนและประกันในอนาคตอีกด้วย -สำนักข่าวไทย.

ทีเอ็มเอ-ดีป้าชูธงดิจิทัลทรานส์ฟอร์มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กรุงเทพฯ 20 ต.ค. ทีเอ็มเอ จับดีป้ายก “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” กลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสำรวจความพร้อมองค์กรไทย มอบรางวัล Thailand Digital Excellence Awards งานสัมมนาออนไลน์ “Digital Transformation Forum” และ “Thailand Digital Excellence Awards 2020” ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีท่านประธานพัฒนาประเทศเหมือนว่าแสดงความคิดเห็น นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้ากล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลเติบโตขึ้นมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยที่ดำเนินมาในโครงสร้างแบบเดิมได้ถูกDisrupt จากระบบดิจิทัล ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผู้ผลิตเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ผ่านคนกลาง การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้เราต้องพิจารณาสามเรื่อง คือ ต้องเร็ว  ต้องสร้างความแตกต่าง และใช้การบริหารต้นทุนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไม่ให้โดน Disrupt ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างตัวเร่งภายในประเทศ วางโครงสร้างพื้นฐานระบบห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย พัฒนาแพลตฟอร์มไทยเพื่ออุตสาหกรรมไทย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีทันสมัยได้ถาโถมเข้ามาอย่างไร้พรมแดน เช่น ปัญญาประดิษฐ์, IOT, Big Data และอื่น ๆ การเปลี่ยนผ่านเพื่อนำเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านั้นมาใช้ เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องปรับกระบวนความคิด หรือ Mindset รวมทั้งปรับพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เคยชิน โดยอุปสรรคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนถ่ายไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ก. กฎหมายที่บางทีเข้าใจยากซับซ้อนและบางทีอาจไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุน ข. การแข่งขัน หากมีการแข่งขันที่ดีจะช่วยให้นวัตกรรมดี ๆ เกิดขึ้นได้ และ ค. ความคิด ควรเห็นวิกฤติเป็นโอกาส มองว่าการปรับสู่ดิจิทัลเป็นการลงทุนไม่ใช่ค่าใช้จ่าย นายอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล Managing Director and Partner บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด(BCG) กล่าวว่า สามคำที่คนยังเข้าใจสับสน คือ   “Digitization เป็นการปรับการดำเนินงานจากที่เป็นระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล แต่ยังนำไปประมวลผลไม่ได้ เช่น สแกนเอกสารเก็บในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ   Digitalization คือ การนำdigital และ เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้ เช่น การนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต   ส่วน Digital Transformation เป็นการนำระบบดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์กลยุทธทางธุรกิจ เพื่อให้ส่วนงานหลักและงานสนับสนุนขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผสานกับกระบวนการ แนวทางการทำงาน  รูปแบบขององค์กร  และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมา ผลลัพธ์ของการทำ digital transformation มีมากมายตั้งแต่การช่วยลดต้นทุน ทำให้นำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือจะช่วยเพิ่มพูนทั้งความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างยอดขายให้องค์กรDAI หรือ Digital Acceleration Index เป็นตัวชี้วัดที่ทางBCGใช้เพื่อดูองค์กรนั้นๆว่าได้มีการทำ Digital Transformation ไปมากน้อยเพียงใด ตัวชี้วัดสามารถสรุปองค์กรออกมาได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆคือ Digital Starter, Digital Literate, Digital Performer และ Digital Leader. นางเอพริล ศรีวิกรม์ Country Manager, Google Cloud ประจำประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กล่าวว่า พันธกิจหลักของกูเกิ้ล คือการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปใช้พัฒนาธุรกิจ หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI และ Machine Learning ถือเป็นหัวใจหลักของเรา  ข้อมูล หรือ Data คือสกุลเงินใหม่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แต่หลายองค์กรยังไม่ได้ตระหนักถึงพลังที่แท้จริงของ Big Data หากองค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนให้มีความคิดที่เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Centric) พวกเขาจะสามารถผลักดันองค์กรให้ก้าวกระโดดไปได้ในทุกมิติของธุรกิจ นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ”เรื่องหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการมาโดยตลอด คือเรื่องการเตรียมความพร้อมของบุคลากรโดยได้มีการจัดตั้ง SCB Academy เพื่อดำเนินงานในเรื่อง Digital Transformation โดยนำเทคโนโลยีมาทดแทนการทำงานของคนในระดับหนึ่ง เช่น ระบบออโตเมชั่นและโรบอติกส์ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้นและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลดขั้นตอน เวลา และต้นทุนในการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ซึ่งค่อนข้างมีผลกระทบกับพนักงาน ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานของธนาคารจึงเป็นการ Re-Skill พนักงานให้มีทักษะที่พัฒนาสูงขึ้นพร้อมกับการดำเนินงานของธนาคาร โดยยังต้อง Up-Skill ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” การทำสำรวจ Digital Transformation สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” ร่วมกับ บอสตันคอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงองค์กรในประเทศไทยสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยใช้เครื่องมือ Digital Acceleration Index (DAI) ของ BCG ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องหลัก คือ แผนกลยุทธ์ธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัล  การใช้ดิจิทัลในการทำงานหลักขององค์กร เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายปฏิบัติการ การพัฒนาการใช้ดิจิทัลหรือการมีดิจิทัลใหม่ๆ ในองค์กร และการใช้ดิจิทัลที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เข้าใจสภาพการณ์ของ digital transformation ในประเทศไทย และศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่องค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อสามารถเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัลได้สำเร็จ มีองค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 แห่ง จาก 7 อุตสาหกรรมซึ่งข้อมูลถูกนำมาเปรียบเทียบกับองค์กรระดับโลก 2,000 กว่าแห่งทั่วโลก ใน 36 มิติ โดยพบว่าองค์กรที่เปลี่ยนผ่านให้เป็นองค์กรดิจิทัลได้ มีมูลค่าองค์กรเป็น 2.4 เท่า เทียบกับองค์กรที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านนี้ จากผลการสำรวจ แม้องค์กรส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงต้นของการทำ digital transformation  แต่ก็กำลังใกล้จะข้ามขั้นไปสู่วุฒิภาวะทางดิจิทัล โดยองค์กรเหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่เป็นองค์กรชั้นนำในด้านนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านสำเร็จและได้ประโยชน์เต็มที่จากการนี้ องค์กรไทยจำเป็นต้องลงทุนสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ทำดาต้าแพลทฟอร์ม นำออโตเมชั่นมาใช้ในกระบวนการทำงาน และสร้างระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลขึ้นมาในองค์กร ทั้งนี้ พบว่าในทุกอุตสาหกรรมที่สำรวจ มีตัวอย่างขององค์กรที่สามารถผลักดันตนเองขึ้นมาจนใกล้สู่ระดับdigital leadership ได้แล้วเช่นกัน หากมองตามอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งผลที่ออกมาสอดคล้องกับทุกภูมิภาคของโลก ส่วนธุรกิจเฮลธ์แคร์ตามมาเป็นที่สอง สอดคล้องกับตลาดเอเชียซึ่งในกรณีนี้ต่างไปจากทางอเมริกาหรือยุโรป  พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นแรงผลักดันประกอบกับความมุ่งมั่นขององค์กรในประเทศไทย เราคงจะได้เห็น Bionic Company นั่นคือองค์กรที่สามารถผสานการทำงานของดิจิทัลเข้ากับการทำงานของทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยมทั้ง 4 ด้านอย่างสมบูรณ์ในอนาคต-สำนักข่าวไทย.

1 12 13 14 15 16 2,829
...