กสทช.แจงเพิ่งได้จดหมายดำเนินการเนื้อหาเพจผิดกฎหมายย้ำยึดกฎหมายเป็นหลัก

กรุงเทพฯ 19 ต.ค กสทช. แจงเพิ่งได้รับหนังสือจากกระทรวงดีอีเอส แจงหลักปฏิบัติการดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ผิด ชี้จะดำเนินการตาม กฎหมาย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (19 ต.ค. 2563) สำนักงานกสทช. เพิ่งได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอีเอส) เรื่อง ขอให้ดำเนินการระงับการกระทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า หลักปฏิบัติโดยทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวเนื้อหาที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2563 กระทรวงฯ เป็นผู้มีอำนาจในการชี้ว่าเนื้อหาใดที่ปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตผิดตาม พ.ร.บ. และจะประสานงานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ให้บริการโครงข่าย (IIG) ในประเทศไทยให้ดำเนินการตามกฎหมาย และจะส่งเรื่องมาให้สำนักงาน กสทช. ช่วยกำชับไปยัง ISP และ IIG ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว  สำหรับในกรณีนี้ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผิดร้ายแรง ได้มีคำสั่งที่ 11/2563 เรื่องระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน ม. 9 ประกอบ ม. 11 ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้สำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการเพื่อระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงฯ จึงได้ขอความร่วมมือให้สำนักงาน กสทช. จะประสานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายดำเนินการตามคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผิดร้ายแรง ต่อไป-สำนักข่าวไทย.

บอร์ดดีอีเห็นชอบหลักการกฎหมายอวกาศ เตรียมชงเข้า ครม.

กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- นายกฯ ไฟเขียวบอร์ดดีอีรับร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศฯ รอเสนอเข้า ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 4/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. และเห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ควบคู่ไปกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้สู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศ อีกประเด็นสำคัญคือ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะดาวเทียมใหม่ๆ ที่จะขึ้นสู่วงโคจรภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่มีปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมก่อนหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานบอร์ดดีอี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศฯ ฉบับนี้มีความสำคัญ และจะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.ก่อให้เกิดนโยบายและแผนการบริหารจัดการด้านกิจการอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม 2.เป็นการยกระดับกฎหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ และส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน 3.ทำให้มีกลไกสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศ และ 4.มีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายอวกาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายกิจการอวกาศตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ และ (2) สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการฯ และกำกับการดำเนินงานตามขอบเขตของนโยบาย ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยและประชาชนทุกกลุ่มใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างสูงสุด มีการลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และจัดสร้างแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนเป้าหมายการมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ รองรับการนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้น การบ้านต่อจากนี้ไปของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบเร่ง “การสร้างความรับรู้” ความก้าวหน้าเหล่านี้ กระจายให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรับทราบในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อให้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐจัดทำไว้ให้แล้ว “ผมขอฝากให้ช่วยกันในสถานการณ์ช่วงนี้ด้วยว่า อย่าให้ละเมิดกฎหมาย ถ้าละเมิดเรามีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เราก็ให้ความสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังโดยไม่จำเป็น เพราะมีกลุ่มเด็กถูกนำเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย เราจึงต้องระมัดระวังให้ผู้ชุมนุมปลอดภัยด้วย ขอย้ำว่าเรามุ่งมั่นบริหารประเทศ เดินหน้าประเทศไปข้างหน้าท่ามกลางปัญหาต่างๆ ได้แก่ โควิด และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ที่ผ่านมาเราทำงานแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่มีคนเอาไปบิดเบือน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าของการควบรวมกิจการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยตั้งเป้าหมายว่ากระบวนการควบรวมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พร้อมรับข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของทั้งสององค์กรว่า การควบรวมดังกล่าวจะไม่ทำให้เสียประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้รายงานต่อที่ประชุมฯ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561– 2580) ในด้านต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากำลังคนดิจิทัล ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ในมิติต่างๆรวมถึงการส่งเสริมการใช้งานโดรน ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ให้ทุนแก่เกษตรกร ในการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร โดยดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการ เช่น บริการบินโดรนพ่นสารน้ำ และยาบำรุงพืช เป็นต้น ช่วยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนได้อีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบง “เนื่องจากโดรนเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคลได้โดยง่าย ในประเทศไทยจึงได้วางกฎและมาตรการในการใช้โดรน เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิส่วนบุคคล และการรักษาความปลอดภัย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

ดีอีเอสเผยยอดโพสต์หมิ่นช่วงชุมนุม 3.2 แสนเรื่อง

กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- ดีอีเอส เปิดเผยยอดโพสต์เว็บไม่เหมาะสมช่วงชุมนุม 3.2 แสนเรื่อง รวมกว่า 1.6 ล้านข้อความ เล็งเก็บข้อมูลต่อดำเนินความผิดคนโพสต์ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมว่า ตั้งแต่ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค. ได้ตรวจสอบผลข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวนกว่าล้านข้อความ เมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวน 322,990 เรื่อง จากข้อความที่ตรวจพบล่าสุด 1.6 ล้านข้อความ แบ่งเป็นทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง เฟซบุ๊ก 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะเน้นการดำเนินการกับผู้นำขึ้นข้อความบนสื่อออนไลน์คนแรกหรือผู้โพสต์คนแรกก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย  อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Pavinchachavalpongpun” และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ,เพจเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำมวลชนรวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น […]

หัวเว่ยมั่นใจศักยภาพไทยเป็นดิจิทัลฮับ อาเซียน

กรุงเทพฯ 15 ต.ค. หัวเว้ยเชื่อชุมนุมการเมืองไม่กระทบอุตฯโทรคมนาคม แนะไทยขับเคลื่อน 3 ด้าน สู่ดิจิทัลฮับอาเซียน นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง หัวเว่ยยังมั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทและธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน จากจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลโดยคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กระทรวงกลาโหม​เป็นประธานนั้น ต้องการเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค และจากการที่รัฐบาลมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์​วิกฤต​โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี  ด้วยการนำประโยชน์ของเทคโนโลยี คลาวด์ และเอไอ มาใช้ประโยชน์​ จึงมั่นใจว่าประเทศจะเข้าสู่ดิจิทัล ฮับ ได้อย่างแน่นอน  “ตามหลักภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาคอาเซียน บวกกับมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ทั้ง 3G, 4G และ 5G แล้ว ยังต้องมีความร่วมมือการทำงานกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคอุตสาหกรรม หากทำได้ประเทศไทยจะเป็นดิจิทัล ฮับ ได้ไม่ยาก เมื่อนั้น ธุรกิจโอทีทีจะย้ายฐานมาที่ประเทศ​“ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย กล่าว หัวเว่ยขอเสนอแนะ แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัล 3 แนวทางคือ การมีนโยบายสนับสนุนประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นดิจิทับ อิโคโนมีโดยใช้มาตรการทางการคลังและภาษี , นำเอาเทคโนโลยี5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุน ให้มีศูนย์ส่งเสริมการใช้ 5G หรือ 5G อินโนเวทีฟ เซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในการตั้งศูนย์ขึ้น และการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน 5G โดยเฉพาะเรื่องคลาวด์ และปัญญา​ประดิษฐ์​ (เอไอ)​ ควรมีการจัด 5G อินโนเวทีฟ โปรแกรม การแข่งขัน รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้าน  นายเติ้ง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันดิจิทัล อีโคโนมี่ ของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภั​ณฑ์มวลรวมของประเทศ​ (จีดีพี)​ ของไทย คาดว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 มีแนวโน้ม​จะเติบโตเฉลี่ยปีร้อยลฝละ 30 ต่อปี  สำหรับเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากนี้ ประกอบด้วย 5 เทคโนโลยี คือ 5G, เอไอ, คลาวด์, เอดจ์ คอมพิวติ้งและแอปพลิเคชัน  ประเทศไทย​เดินหน้ารูปแบบการทำงานที่ใช้เทคโนโลยี 5G หลายด้านแล้ว เช่น การทำงานกับโรงพยาบาล​ศิริราช​ การทำโครงการโรงพยาบาล​อัจฉริยะ​ เกษตร​ดิจิทัล​กับมหาวิทยาลัย​วิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง​ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการ​กิจการ​กระจาย​เสียง​ กิจการ​โทรทัศน์​ และ​กิจการ​โทรคมนาคม​แห่งชาติ​ (กสทช.)​ นำโดยนาฐากร ตั​ณ​ฑ​สิทธิ์​ อดีตเลขาธิการ​ กสทช. ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่​เพื่อรองรับ​ 5G ได้แก่​ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์​ และ 26 กิกะเฮิรตซ์​ ทำให้ประเทศ​ไทยเปิดให้บริการ 5G ก่อนประเทศ​อื่นๆ ในภูมิภาค​ ส่งผลให้มีโครงสร้าง​พื้นฐาน​ 5G ที่แข็งแกร่ง​ก่อนใคร ในขณะที่​ หัวเว่ยก็จะลงทุนในประเทศ​ไทย​ต่อเนื่อง ขอย้ำประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่บริษัทนำเสนอครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Carrier การให้บริการเครือข่าย 4G, Enterprise การให้บริการหน่วยงานต่างๆ, Consumers การมีสินค่ารุกตลาดคอนซูเมอร์ และ cloud & AI เพื่อให้สามารถส่งมอบอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรอบด้าน และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วขึ้น-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสกสทช.กำชับห้ามเผยแพร่ข้อความขัดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

กรุงเทพฯ 15 ต.ค. ดีอีเอส หารือ กสทช. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลศ และสำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ (IIG) ในประเทศไทย ทุกรายร่วมประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และข้อกำหนดที่ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดรวมทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และข้อกำหนดสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว หรือปกปิดข้อมูลการกระทำดังกล่าว นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงดีอีเอส และสำนักงาน กสทช. ขอกำชับให้ ISP และ IIG พึงระวังไม่ให้มีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ห้ามตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้น โดยเฉพาะในส่วนของการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และการสนับสนุนให้มีการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และขอให้สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้อย่างเต็มที่ หากพบว่าผู้ให้บริการรายใดกระทำการที่เข้าข่ายข้างต้น อาจเป็นผลให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการตามกฎหมาย และสำนักงานกสทช. บังคับทางปกครองต่อ ISP และ IIG ต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลให้มีการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้  ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. ขอให้ผู้ให้บริการร่วมกันดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้ด้วย โดยหากพบเห็นการกระทำใดที่ไม่เหมาะสมหรือล่อแหลมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการสอดส่องข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ หากพบว่าไม่เหมาะสมให้แจ้งสำนักงาน กสทช. เพื่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป-สำนักข่าวไทย.

กสทช.กำชับโอเปอเรเตอร์ดูแลสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ภัยพิบัติ-ประชาชนหนาแน่น

กรุงเทพฯ 14 ต.ค. กสทช. ย้ำโอเปอเรเตอร์ทุกรายดูแลคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ที่มีการใช้งานของประชาชนหนาแน่น พื้นที่เกิดภัยพิบัติ รวมทั้งทีมซ่อมบำรุงเพื่อเข้าแก้ไขกรณีเกิดเหตุขัดข้อง และเตรียมเครื่องสำรองไฟกรณีไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้โครงข่ายใช้งานได้ตลอดเวลา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วสำนักงาน กสทช. ได้กำชับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค แคท และทีโอที ให้ดูแลคุณภาพสัญญาณและโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนในพื้นที่ที่มีการใช้งานของประชาชนหนาแน่น และพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมทีมซ่อมบำรุงเพื่อเข้าแก้ไขกรณีเกิดเหตุขัดข้อง และเตรียมความพร้อมเครื่องสำรองไฟกรณีไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. เข้าใจถึงความจำเป็นในการสื่อสาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีประชาชนมีความต้องการใช้งานเป็นจำนวนมาก และกรณีเกิดภัยพิบัติ ดังนั้น หากเกิดปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้สามารถใช้งานได้ ประชาชนสามารถโทรแจ้งเข้ามาได้ที่ กสทช. คอลเซ็นเตอร์ หมายเลข 1200 -สำนักข่าวไทย.

แอปเปิลเปิด iPhone12 รองรับเทรนด์สื่อสาร 5G

แคลฟอร์เนีย 13 ต.ค. สิ้นสุดการรอคอย แอปเปิล เปิดตัว iPhone 12 4 รุ่น ชูเทคโนโลยีรองรับ 5G  นายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอปเปิล ประกาศเปิดตัวไอโฟน 4 รุ่นที่มาพร้อมกับคุณสมบัติรองรับการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5 G ที่มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูง มีความหน่วงต่ำ ใช้ตัวประมวลผล Apple A14 Bionic ออกแบบบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร ทำให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ประหยัดพลังงานมากขึ้น แอปเปิลมั่นใจว่า  iPhone 12 จะมีความเร็วในการประมวลผลมากกว่าสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวก่อนหน้าถึงร้อยละ 50 และด้วยการออกแบบและเลือกใช้ตัวประมวลผลใหม่ ที่จะมาพร้อมกับแมชชีนเลิร์นนิ่งจะช่วยให้การแสดงผลภาพดีขึ้น ด้วยการจดจำและวิเคราะห์การแสดงผลที่ดีกว่าเดิมร้อยละ 70  ส่วนการถ่ายภาพ iPhone 12 มากับกล้อง 2 ตัว คือ Ultra Wide 12 ล้านพิกเซลขนาดรูปรับแสง f/2.4 เลนส์ระยะ 13 มม.และ Wide รูรับแสง  f/1.6 เลนส์ระยะ 26 มม. ถ่ายภาพในที่แสงน้อยและถ่ายวิดีโอได้ดีขึ้น โดย iPhone 12 ทั้ง 4 รุ่นคือ iPhone 12  iPhone 12 mini iPhone 12 Pro และ iPhone 12 Pro Max -สำนักข่าวไทย

ซิสโก้เผยผลสำรวจพนักงานกลัวการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ

กรุงเทพผฯ 13 ต.ค.-ซิสโก้เผยผลการสำรวจทั่วโลกชี้ พนักงานไม่มั่นใจในการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ วอนต้องการแพลตฟอร์มการประชุมผ่านวิดีโอที่ดีกว่าเดิม นายจีทู พาเทล รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจซีเคียวริตี้และแอพพลิเคชั่นของซิสโก้ กล่าวว่า การทำงานในอนาคตจะมีลักษณะเป็นแบบผสมผสานหรือไฮบริด โดยพนักงานจะทำงานจากที่บ้านและในออฟฟิศในระดับที่แตกต่างหลากหลายกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำอยู่  พันธกิจของเราคือการทำให้ประสบการณ์การใช้งาน Webex ดีกว่า 10 เท่า และเมื่อพนักงานต้องพบปะพูดคุยกันโดยตรง Webex ก็จะทำให้การพูดคุยกันนั้นดีกว่าเดิม 10 เท่า โดยอาศัยอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่รองรับการทำงานร่วมกันและมีการบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนนวัตกรรมที่เราเปิดตัวในวันนี้นับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะรองรับการทำงานนอกสถานที่อย่างปลอดภัย และมอบประสบการณ์การทำงานแบบผสมผสานอย่างชาญฉลาด เพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย นายพาเทล กล่าวอีกว่า จากการทำสำรวจความคิดเห็นพนักงานทั่วโลกพบว่าพนักงานร้อยละ 95 รู้สึกไม่สบายใจที่จะกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศอีกครั้งเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงไม่แน่นอน ร้อยละ 98 คาดหวังว่าในการประชุมครั้งต่อไป ควรจะอนุญาตให้พนักงานเข้าร่วมการประชุมจากที่บ้าน และ ร้อยละ 53  ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 96 ต้องการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน จากสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการทำงานร่วมกันของซิสโก้จึงได้พัฒนานวัตกรรมที่รองรับการทำงานทั้งในออฟฟิศและนอกสถานที่ เพื่อช่วยให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถฟันฝ่าวิกฤตในช่วงปีนี้และในอนาคต  โดยจะสร้างประสบการณ์การประชุมที่ดีขึ้น 10 เท่า เมื่อผลการสำรวจระบุว่าพนักงานจะยังคงทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 8 วัน จำเป็นที่บริษัทจะต้องปรับปรุงประสบการณ์ด้านการประชุมผ่านวิดีโอ แพลตฟอร์ม Webex ประกอบด้วยฟีเจอร์ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และภายหลังการประชุม เป็นการปรากฏตัวในแบบที่ต้องการ ไม่ต้องเสียเวลานั่งรอก่อนเข้าห้องประชุมอีกต่อไป และสามารถใช้เวลาไปกับการปรับแต่งลักษณะที่คุณจะปรากฏตัวในการประชุม โดยสามารถได้ขยายมุมมองให้กว้างขึ้นเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฉากหลังหรือแบ็คกราวด์ของคุณจะมีลักษณะเป็นอย่างไร หรือคุณอาจเลือกใช้แบ็คกราวด์แบบเสมือนจริงก็ได้ ซึ่งเราได้เพิ่มเติมตัวเลือกมากมายสำหรับส่วนนี้เช่นกัน ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาวิธี จัดวางส่วนควบคุมไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยไม่ปิดทับเนื้อหาข้อมูลที่ใช้งานร่วมกันหรือภาพวิดีโอ และมีการปรับเปลี่ยนตามขนาดหน้าจอถ้าต้องการสนทนากับใครบางคนแค่วางเมาส์ไว้เหนือภาพคนคนนั้น หรือถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเสียง ปรับแต่งตามใจ สามารถสั่งให้ Webex ซ่อนผู้เข้าร่วมที่ไม่แสดงภาพวิดีโอตัดเสียงรบกวนรอบข้าง และเสียงรบกวน มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพแวดล้อมในอุปกรณ์ Webexซิสโก้เป็นผู้บุกเบิกการใช้เซ็นเซอร์ในอุปกรณ์ที่รองรับการทำงานร่วมกัน โดยจัดหาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานให้แก่ผู้ใช้ ฝ่ายไอที และผู้เชี่ยวชาญด้าน เพื่อให้สถานที่ทำงานปลอดภัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การตรวจสอบพื้นที่ทำงานอย่างรวดเร็วตามข้อกำหนดด้านสภาพแวดล้อมจะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงคุณภาพของการประชุม สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งคนที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศและคนที่ทำงานจากที่บ้าน-สำนักข่าวไทย.

รัฐบาลเปิดแอปThailandPlusรับมือเปิดประเทศ

กรุงเทพฯ 12 ต.ค.  รัฐบาลเปิด ThailandPlus” แอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวปลอด COVID-19 เตรียมพร้อมรับไฟเขียวเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจแบะสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวปลอดโควิด-19 ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมติอนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , สำนังานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ดีจีเอ) ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อรองรับการเปิดประเทศ ผลจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานดิจิทัลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ThailandPlus  สามารถระบุความเสี่ยง ติดตาม และแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ให้กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่ประเทศต้นทาง ThailandPlus  เป็นแอปที่ใช้งานง่ายเมื่อนักท่องเที่ยวดาวน์โหลดแล้วก็สามารถลงทะเบียนโดยกรอกCertificate of Entry (COE) ตามเอกสารและหมายเลข Passport เพียงเท่านี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ท่องเที่ยวประเทศไทยได้อย่างสบายใจทั้งผู้มาเยือนแล้วเจ้าบ้านที่คอยให้การต้อนรับได้แล้ว แอปพลิเคชัน ThailandPlus เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้งานแอปพลิเคชั่น ThailandPlus เป็นไปด้วยความราบรื่นได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรมประชาสัมพันธ์จะช่วยประชาสัมพันธ์ผู้เดินทางและ บริษัท ตัวแทนนำเที่ยวถึงมาตรการป้องกันและขั้นตอนการปฏิบัติตนก่อนเดินทางมายังประเทศไทยและการติดตั้งแอปด้านกระทรวงการต่างประเทศได้ มอบหมายสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ ณ ประเทศต้นทางประชาสัมพันธ์เรื่องการติดตั้งและการใช้งานแอปเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำหน้าที่ตรวจสอบการติดตั้งและเปิดใช้งานแอปในมือถือของผู้เดินทางกรมควบคุมโรคบริหารจัดการศูนย์ติดตามและประสานงานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ของแอปที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกนโยบายความเป็นส่วนตัวให้สอดคล้องถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในต่างประเทศและตำรวจท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะคอยให้ข้อมูลผู้เดินทางเรื่องวิธีการใช้งานและการแก้ปัญหาเบื้องต้นของระบบ ThailandPlus ผ่าน call center 1155-สำนักข่าวไทย.

รายงานพิเศษเรื่อง : ThailandPlusแอปพลิเคชั่นรับมือการเปิดประเทศ

กรุงเทพฯ 11 ต.ค. ทันทีที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย หน่วยงานด้านดิจิทัลได้รับมอบหมายให้พัฒนาเครื่องมือในการรับมือกับการเฝ้าระวังและคิดตามนักท่องเที่ยวที่เข้าเข้ามาในประเทศไทย จึงได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมารองรับมาตรการนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  หน่วยงานทางด้านดิจิทัลของประเทศได้ร่วมกันคิดหาเครื่องมือเฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อรองรับการเปิดประเทศเตรียมความพร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวปลอด COVID-19 สร้างความมั่นใจให้ประชาชน จนทำให้เกิดThailandPlus แอปพลิเคชั่นระบุความเสี่ยง ทำหน้าที่คอยติดตามแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวและหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่ประเทศต้นทาง การทำงานของ ThailandPlus เริ่มจาการทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยให้โหลดแอปพลิเคชั่นก่อนเข้าประเทศ เมื่อมาถึงจะให้เข้าสู่กระบวนการกักตัวตามขั้นตอนที่รัฐบาลกำหนดไว้การเดินทางของข้อมูลนักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยว เริ่มจากนักท่องเที่ยวแสดงความความจำนงขอเข้าประเทศผ่านกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศต้นทางจะเป็นผู้ให้ข้อมูลในการติดตั้งแอปพลิเคชัน ThailandPlus เมื่อเดินทางมาถึงด่านคัดกรองตรวจควบคุมโรค จะตรวจสอบการลงแอปพลิเคชันและแจ้งให้ทราบว่านักท่องเที่ยวต้องใช้แอปพลิเคชัน ThailandPlusเมื่อนักท่องเที่ยวออกจากสถานที่กักตัวแล้ว ตลอดระยะเวลาการท่องเที่ยวในประเทศ แอปพลิเคชั่นจะรายงานข้อมูลที่อยู่และที่ไปของนักท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยี GPS ในการติดตามตำแหน่งของนักท่องเที่ยว ThailandPlus ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย จะว่าไปคล้ายกับแอปพลิเคชั่นที่เคยออกแบบมมาใช้กับนักท่องเที่ยวตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ โดยThailandPlus ได้รับการออกแบบให้สมบรูณ์แบบมากกว่า แอปพลิเคชั่นยังออกแบบให้ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่จะใช้งานในอนาคตเช่น สายรัดข้อมือ (wristband) อัจฉริยะ ที่จะทำงานร่วมกับสมาร์ทซิตี้อย่าง ภูเก็ต หรือ เชียงใหม่ ในอนาคต      กุญแจสำคัญที่จะทำให้ระบบเฝ้าระวังประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ การปฎิบัติ ของนักเที่ยว และหน่วยงานที่ดูแล  หน่วยงานที่รับผิดชอบอาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ทำหน้าที่ทำความเข้าใจการติดตั้งและการใช้งานแอปให้กับนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำหน้าที่ตรวจสอบการติดตั้งและเปิดใช้งานแอปในมือถือของผู้เดินทางกรมควบคุมโรคบริหารจัดการศูนย์ติดตามและประสานงานการแพร่ระบาดของโควิด-19 แอป ThailandPlus เป็นแอปที่ใช้งานง่ายเมื่อนักท่องเที่ยวดาวน์โหลดแล้วก็สามารถลงทะเบียนโดยกรอก Certificate of Entry (COE) ตามเอกสารและหมายเลข Passport เพียงเท่านี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ท่องเที่ยวประเทศไทยได้อย่างสบายใจทั้งผู้มาเยือนแล้วเจ้าบ้านที่คอยให้การต้อนรับได้แล้ว “เราประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้างเพราะความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติ ThailandPlus  เป็นเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังชาวต่างชาติเพื่อใช้ตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ โดยเน้นถึงเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ”นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวต่างประเทศ เมื่อใช้งานแอปพลิเคชั่นแล้วย่อมหมายถึงการยอมให้หน่วยงานภาครัฐของไทยเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องละเอียดอ่อนของโลกยุคปัจจุบัน เรื่องนี้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกนโยบายความเป็นส่วนตัวให้สอดคล้องถูกต้องเป็นไปตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในต่างประเทศและตำรวจท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว-สำนักข่าวไทย.

กระทรวงดีอีเอสจับมือกระทรวงอว.เพิ่มทักษะดิจิทัลคนรุ่นใหม่

กรุงเทพฯ 11 ต.ค. ดีอีเอส เชื่ออุตสาหกรรมดิจิทัลจะช่วยช่วยสร้างเศรษฐกิจ ชี้มีแต้มต่อเครือข่าย 5G รองรับ เร่งเพิ่มทักษะนักศึกษาจบใหม่ สร้างงาน สร้างโอกาสภาคธุรกิจ  นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล  ใช้ทักษะด้านดิจิทัลมาช่วย  จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นระบบการสร้างคนเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำในสิ่งที่สนใจให้เกิดประโยชน์จะเป็นแนวทางที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ “เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นหมอ ไม่อยากเป็นวิศวะแล้ว แต่อยากเป็นตัวของตัวเอง ยิ่งเกิดโควิด-19 ทั่วโลก ระบบการค้าขายออนไลน์ ระบบการโอนเงิน ระบบการสร้างคนต้องเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะจบด้านอะไร จบบัญชี ก็สามารถใช้ทักษะดิจิทัลมาใช้ได้ ภาคอุตสาหกรรม วันนี้ทุกอย่างเป็น 5G ทั้งหมด อนาคตจะมารองรับระบบหุ่นยนต์  ถ้าเด็กของเราคิดแค่นี้ จบแค่นี้ ก็ไปไหนไม่ได้ วันนี้จึงต้องสร้างเด็กขึ้นมา”  นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหลักสูตรเสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านออนไลน์เพิ่มทักษะให้นักศึกษาจบใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจ้างนักศึกษาจบใหม่เรียนเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล เสริมเพิ่มเติมจากทักษะที่มีอยู่แล้ว เมื่ออบรมแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาตัวเองและสร้างงานใหม่ได้ รองรับตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจ หลังจากเตรียมพร้อมเปิดประเทศ ด้วยฐานการรองรับใหม่ๆ โดยใช้ทักษะดิจิทัล  มองว่าไทยหลังเปิดประเทศ นี่คือโลกใบใหม่ของน้องๆ รัฐบาลตั้งใจเตรียมวิธีการใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ การทำงานให้คนรุ่นใหม่ ทั้งแบบไฮบริดออนไลน์ ออฟไลน์ นี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะเดินหน้า ในขณะที่ประเทศอื่น ยังต้องแก้ไขปัญหาโควิดอยู่  เพราะฉะนั้นการจ้างงานการอบรมฝึกทักษะด้านดิจิทัลให้เด็กเป็นสิ่งที่สำคัญ  “ไม่มีอุตสาหกรรมไหนในโลกที่สามารถ ตั้งฐานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว การจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่อุตสาหกรรมดิจิทัล ในเงินลงทุนใกล้เคียงกัน ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งเท่านั้น ใช้วงเงินและได้เม็ดเงินเข้าประเทศใกล้เคียงกัน  สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานคนไทย ฝึกทักษะอบรมนิดหน่อยก็สามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจได้  และในอนาคตส่วนใหญ่จะใช้อุตสาหกรรม ดิจิทัลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหมด และฐานข้อมูลจากนี้ไป บริษัทไหนมีฐานข้อมูลลูกค้าดีที่สุด เก็บข้อมูลได้ดีที่สุด ใครเข้าใจการบริหารข้อมูลดีที่สุด คือ ผู้ชนะนั่นคือรัฐบาลชุดนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลมากที่สุด” -นายพุทธิพงษ์กล่าว-สำนักข่าวไทย.

รมว.ดีอีเอสยังจี้ทวิตเตอร์เร่งจัดการบัญชีผิดกฎหมาย

กรุงเทพฯ 9 ต.ค.”พุทธิพงษ์” รับแปลกใจทวิตเตอร์เผยข้อมูลไอโอ จี้ลบบัญชีผิดกฎหมายพิสูจน์ความจริงใจ จากกรณีที่ทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล  เรื่องการตรวจจับผู้ใช้งานที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไอโอ(information operations) โดยระบุว่า ไทย ติดอันดับ 1ใน 5 ประเทศที่มี อิหร่านซาอุดีอาระเบีย คิวบา รัสเซีย และไทยโดยมีจำนวนบัญชีไอโอที่ตรวจพบทั้ง 1,594 บัญชีในครั้งนี้ และไทย โดนระงับการใช้งานอย่างถาวรไปแล้ว  926 บัญชี  ซึ่งพบเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการไอโอและสามารถเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับกองทัพบกไทยนั้น นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตนรู้สึกแปลกใจที่ทวิตเตอร์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ แทนที่จะดำเนินการตามคำสั่งศาลของกฎหมายไทยที่ได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น หรือลบบัญชีของผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันหลักของไทย   ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองได้ส่งคำสั่งศาลไปแล้ว แต่ทวิตเตอร์ยังเพิกเฉย ไม่ทำการลบให้ จำนวน 65 รายการ  และอีก 1 ชุดที่กำลังจะส่งไปเพิ่มเติม อีกจำนวน 253 รายการ ทั้งนี้ จึงเรียกร้องไปยังทวิตเตอร์ ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลและเคารพกฎหมายของไทยอย่างจริงจัง  เพื่อแสดงความจริงใจในการทำงานที่โปร่งใสของทวิตเตอร์เอง-สำนักข่าวไทย.

1 13 14 15 16 17 2,829
...