กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- นายกฯ ไฟเขียวบอร์ดดีอีรับร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศฯ รอเสนอเข้า ครม.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 4/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. และเห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร็วต่อไป
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ควบคู่ไปกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้สู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศ อีกประเด็นสำคัญคือ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะดาวเทียมใหม่ๆ ที่จะขึ้นสู่วงโคจรภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่มีปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมก่อนหน้า
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานบอร์ดดีอี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศฯ ฉบับนี้มีความสำคัญ และจะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ครอบคลุม 4 ด้าน
ได้แก่ 1.ก่อให้เกิดนโยบายและแผนการบริหารจัดการด้านกิจการอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม 2.เป็นการยกระดับกฎหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ และส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน 3.ทำให้มีกลไกสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศ
และ 4.มีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายอวกาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายกิจการอวกาศตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ และ (2) สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการฯ และกำกับการดำเนินงานตามขอบเขตของนโยบาย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยและประชาชนทุกกลุ่มใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างสูงสุด มีการลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และจัดสร้างแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนเป้าหมายการมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ รองรับการนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้น การบ้านต่อจากนี้ไปของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบเร่ง “การสร้างความรับรู้” ความก้าวหน้าเหล่านี้ กระจายให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรับทราบในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อให้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐจัดทำไว้ให้แล้ว
“ผมขอฝากให้ช่วยกันในสถานการณ์ช่วงนี้ด้วยว่า อย่าให้ละเมิดกฎหมาย ถ้าละเมิดเรามีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เราก็ให้ความสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังโดยไม่จำเป็น เพราะมีกลุ่มเด็กถูกนำเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย เราจึงต้องระมัดระวังให้ผู้ชุมนุมปลอดภัยด้วย ขอย้ำว่าเรามุ่งมั่นบริหารประเทศ เดินหน้าประเทศไปข้างหน้าท่ามกลางปัญหาต่างๆ ได้แก่ โควิด และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ที่ผ่านมาเราทำงานแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่มีคนเอาไปบิดเบือน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าของการควบรวมกิจการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยตั้งเป้าหมายว่ากระบวนการควบรวมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พร้อมรับข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของทั้งสององค์กรว่า การควบรวมดังกล่าวจะไม่ทำให้เสียประโยชน์
นอกจากนี้ ยังได้รายงานต่อที่ประชุมฯ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561– 2580) ในด้านต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากำลังคนดิจิทัล ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ในมิติต่างๆรวมถึงการส่งเสริมการใช้งานโดรน
ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ให้ทุนแก่เกษตรกร ในการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร โดยดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบริการ เช่น บริการบินโดรนพ่นสารน้ำ และยาบำรุงพืช เป็นต้น ช่วยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนได้อีกช่องทางหนึ่ง
รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบง
“เนื่องจากโดรนเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคลได้โดยง่าย ในประเทศไทยจึงได้วางกฎและมาตรการในการใช้โดรน เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิส่วนบุคคล และการรักษาความปลอดภัย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย