ระดมทุกมาตรการแก้ปุ๋ยแพง-ขาดแคลนระยะยาว

กรุงเทพฯ 20 ก.ค.- กระทรวงเกษตรฯ ระดมทุกหน่วยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาดแคลน พร้อมออกมาตรการแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลนต่อเนื่องปี 2565-2569 หนุนการชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังหวังพึ่งแหล่งสินแร่โพแทชในประเทศ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ ตลอดจนวางแนวทางเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ 


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจากราคาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาดแคลน โดยมอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565-2569 เนื่องจากที่ผ่านมาปุ๋ยในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกได้ชะลอการส่งออก รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศถึงร้อยละ 98 รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท

สำหรับแผนของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565-2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ดังนี้ 


– มาตรการระยะสั้น เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ การชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ การเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซีย (หุ้นส่วนอุตสาหกรรมตามข้อตกลง Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation) ซึ่งเป็นความตกลงพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 ซึ่งมีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 299 ศูนย์ พื้นที่ 58 จังหวัด เกษตรกร 52,170 ราย พื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ธันวาคม 2562-30 พฤศจิกายน 2568 เร่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก” คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี

– มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง (ระยะเวลา 3-5 ปี) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโพแทชและแอมโมเนียมซัลเฟต ประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โพแทชที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น ในจังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น การเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับมาเลเซียและประเทศอื่น ๆ หากพร้อมผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมแล้ว อาจเจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ร่วมกับมาเลเซียและจีน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของแม่ปุ๋ย ทั้งปริมาณและราคา

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งในนาข้าว พืชสวน พืชไร่ ในการบำรุงดิน การรองพื้นในหลุมปลูก ซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ในการผลิตพืชในครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้ จากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของปริมาณมูลสัตว์แห้งจากฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณรวมปีละกว่า 27 ล้านตัน โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการนำเอามูลสัตว์ไปผลิตเป็นปุ๋ยคอก ทั้งในรูปแบบผง อัดเม็ด และแบบน้ำ เพื่อนำไปใช้เอง และจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไปในภาคการเกษตรและเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องได้รับการแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการและการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพืชและปุ๋ยโดยตรง


ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน กำหนดแผนการขับเคลื่อนการจัดการปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมร่วมกับหมอดินอาสา ถ่ายทอดความรู้การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยแนวทางต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพดินตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง โดยมีการเก็บตัวอย่างดินนำมาตรวจวิเคราะห์สมบัติทางเคมี ประเมินผลให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนแจกผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ พด. ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และต่อยอดขยายผลการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินทำการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่าง ๆ พัฒนาและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยพืชสด ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอซังพืช ป้องกันปัญหาหมอกควัน และลดสภาวะโลกร้อน รวมทั้งผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง.-สำนักข่าวไทย   

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

มติกฤษฎีกา “กิตติรัตน์” คุณสมบัติไม่ผ่านนั่งประธานบอร์ด ธปท.

คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย

เครื่องบินโดยสาร อาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ตกในคาซัคสถาน

เครื่องบินโดยสารเอ็มบราเออร์ ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ที่บินจากอาเซอร์ไบจาน ไปยังประเทศรัสเซีย เกิดอุบัติเหตุตกที่บริเวณใกล้กับเมืองอัคเทา ในคาซัคสถาน โดยมีผู้โดยสาร 62 คน และลูกเรือ 5 คน บนเครื่อง เจ้าหน้าที่คาซัคสถานกล่าวว่า มีผู้รอดชีวิต 28 ราย