กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” บริการข้อมูลรอบด้านเชิงพื้นที่ ให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนนำไปใช้เพื่อวางแผนการผลิตและการตลาด เข้าถึงง่ายผ่านระบบ Web Application และ Mobile Application หวังเป็นเครื่องมือเนวิเกเตอร์ภาคเกษตรยุคดิจิทัล
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สศก. จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล สำหรับจัดเก็บและบริการข้อมูลทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 10 กระทรวง โดยสำรวจและรวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) แล้วนำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตรและวิเคราะห์ในมิติต่างๆ ใน 5 ระบบงานคือ
1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน
2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics)
3) ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร
4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP)
5) ระบบ Public AI
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรจะเป็นประโยชน์แก่ เกษตรกร ภาครัฐ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทานการผลิต โดยเป็นเครื่องมือเนวิเกเตอร์ที่มีข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตที่แม่นยำเพื่อจะนำไปใช้วางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับแผนการขับเคลื่อน Big Data จากนี้ไป สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติวาง Road map 3 ระยะ คือ
ระยะ 1 เป็นระยะสั้นระหว่างพ.ศ. 2566 – 2567 มีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น Internal Data External Data Partner Data Customer Data ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน โดยบุคลากรของหน่วยงานจะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ หรือตัดสินใจกันบนข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันผลลัพธ์ที่ได้และปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น
ระยะ 2 ระยะกลางระหว่างพ.ศ. 2568 -2569 จัดทำการให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลแบบเปิด (Open Access) เพื่อให้เกษตรเข้าถึง ค้นหา แจกจ่ายข้อมูลต่อได้แบบเรียลไทม์ มีการจัดทำการเปิดเผยข้อมูลการเกษตร
ระยะ 3 ระยะยาวตั้งแต่พ.ศ. 2570 เปิดให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Personalization Driven ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรายบุคคล รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลนั้นๆ มีการนำเสนอข้อมูล/บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการและเชื่อมโยงในระดับแปลง เกษตรกร และพื้นที่ ได้พัฒนาระบบและจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร
ขณะนี้เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ nabc-catalog.oae.go.th ที่รวบรวมชุดข้อมูลกว่า 734 ชุด จาก 90 หน่วยงาน โดยจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล 17 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มข้อมูลด้านแผนงาน/งบประมาณ 2) กลุ่มข้อมูลด้านเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร 3) กลุ่มข้อมูลด้านดินและที่ดิน 4) กลุ่มข้อมูลด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน 5) กลุ่มข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ 6) กลุ่มข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) กลุ่มข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืช 8) กลุ่มข้อมูลด้านการทำปศุสัตว์ 9) กลุ่มข้อมูลด้านการทำประมง 10) กลุ่มข้อมูลด้านสินเชื่อและแหล่งเงินทุน 11) กลุ่มข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการตลาด 12) กลุ่มข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และแหล่งรับซื้อ 13) กลุ่มข้อมูลด้านราคา 14) กลุ่มข้อมูลด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการผลิตและสินค้าเกษตร 15) กลุ่มข้อมูลด้านงานวิจัยและองค์ความรู้ 16) กลุ่มข้อมูลด้านปัจจัยการผลิต และ 17) กลุ่มข้อมูลด้านแผนที่และข้อมูลเชิงแผนที่.-สำนักข่าวไทย