กรุงเทพฯ 22 พ.ย.- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผย ภาพรวมปี 65 ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีเป็นแรงจูงใจให้ขยายพื้นที่การเพาะปลูก ยกเว้นข้าวนาปี-ยาง-ปลานิล มีผลผลิตลดลง เหตุได้รับผลกระทบจากพายุโนรูและฝนที่ตกต่อเนื่อง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน โดยพบว่า สินค้าเกษตรที่สำคัญปีนี้ มีผลผลิตหลายชนิดเพิ่มขึ้นได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังโรงงาน กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี สินค้าเกษตรบางชนิดมีโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ โครงการประกันรายได้ และความต้องการผลผลิตเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออกมีเพิ่มขึ้น จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก และเนื้อที่เลี้ยง รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดปี 2565 เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช และเกษตรกรให้การดูแล มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้พันธุ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย
หากพิจารณาสินค้าแต่ละชนิด (ข้อมูลพยากรณ์ ณ ตุลาคม 2565) พบว่า ปาล์มน้ำมัน 2565 คาดว่า เนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศ 6.150 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.93 ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 18.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.94 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 2,994 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.94 โดยเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ที่ปลูกเมื่อปี 2562 เพราะราคาดี จึงมีการปลูกทดแทนพืชอื่น ได้แก่ เงาะ ลองกอง กาแฟ ยางพาราที่อายุมาก ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนช่วงปลายปี 2564 ถึงตลอดปี 2565 ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำหนักทะลายเพิ่มขึ้น
ส่วนมันสำปะหลังโรงงาน ปี 2566 (ปีเพาะปลูก 2565/66) เป็นมันสำปะหลังโรงงาน ที่จะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งคาดว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ 10.11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.93 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 34.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.18 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว ทั้งประเทศ 3,436 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26 ซึ่งเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากราคาที่จูงใจ โดยขยายพื้นที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนดีตลอดปี 2565 แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลาน ในเดือนสิงหาคม 2565 และพายุใต้ฝุ่นโนรู ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ก็ตาม
กุ้งขาวแวนนาไม ปี 2565 เนื้อที่เลี้ยงรวมทั้งประเทศ 270,601 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.90 ปริมาณการผลิต รวมทั้งประเทศ 377,997 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 ส่วนผลผลิตต่อไร่ต่อปี รวมทั้งประเทศ 1,397 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23 โดยเนื้อที่เลี้ยงปี 2565 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั้งห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกมีความต้องการซื้อเพิ่ม เกษตรกรจึงยังคงเลี้ยงกุ้งต่อเนื่อง และแม้ว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และต้นทุนอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงมากนัก เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงมาใช้แนวทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้กุ้งมีอัตราการรอดดี
นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตรบางชนิดที่คาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงจากปีที่แล้วเช่น ข้าวนาปี ยางพารา ปลานิล เป็นต้น เนื่องจากผลกระทบของอุทกภัยจากพายุโนรูและฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง รวมทั้งประสบปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราส่งผลให้ไม่สามารถกรีดยางได้ ส่วนข้าวนาปีและปลานิล ผลผลิตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยโนรู ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรบางรายบำรุงดูแลผลผลิตได้ไม่เต็มที่ โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนหนึ่งปรับตัวโดยหันมาลดการใส่ปุ๋ยเคมีและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สศก. จะยังคงติดตามสถานการณ์การผลิต ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชและสัตว์ ในช่วงการเจริญเติบโต จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำมาปรับค่าพยากรณ์ต่อไป โดย สศก. จะมีการปรับค่าพยากรณ์สินค้าเกษตร เป็นรายไตรมาส
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 02 561 2870 หรืออีเมล prcai@oae.go.th.-สำนักข่าวไทย