จุฬาฯ 22 พ.ค.- คณะบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับ World economic forum เผยผลสำรวจอาชีพในอนาคต คาดในปี70 งานทั่วโลกลดลง 14 ล้านตำแหน่ง อาชีพด้าน AI และ Big Data ความต้องการพุ่งสูง ขณะที่ พนักงานธนาคารเสมียนบันทึกข้อมูล เลขานุการ เสี่ยงถูกทดแทน แนะภาคธุรกิจ-สถาบันศึกษาเร่งปรับตัว ชี้ยังไม่สายเกินไป
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เปิดเผยผลสำรวจอาชีพในอนาคต หรือ Future of jobs report ซึ่ง cps ได้ร่วมกับ World economic forum จัดทำการสำรวจทิศทางของอาชีพในอนาคต รวบรวมจากมุมมองของ 800 กว่าบริษัท ซึ่งรวบรวมการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านคนใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม ของ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก คาดว่าในปี 2570 จะมีงานประมาณร้อยละ 23 เปลี่ยนแปลงโดยมีการสร้างงานใหม่จำนวน 69 ล้านตำแหน่ง มีงานที่จะถูบยุบหรือยกเลิกจำนวน 83 ล้านตำแหน่ง และจะมีงานลดลง 14 ล้านตำแหน่ง จากงานทั้งหมดประมาณ 673 ล้านตำแหน่ง
ศ.ดร.วิเลิศ ระบุว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาระดับมหภาค พบว่าตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายใน5 ปีนี้คือการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน มาตรฐาน esg ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น อย่างไรก็ตามธุรกิจต่างๆอาจต้องเผชิญความท้าทายเช่นภาวะเงินเฟ้อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการเข้าถึงเทคโนโลยี
สำหรับอาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคตเป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (Dada analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต ( Big Data specialist ) ผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% งานด้านพาณิชย์ดิจิทัล(Digital commerce ) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง อย่างน้อยก็ตามเทคโนโลยีและดจิทัล อาจทำให้งานบางประเภทลดบทบาทลง เช่น งานธุรการหรือเลขานุการ พนักงานธนาคารแคชเชียร์และพนักงานป้อนข้อมูล
คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ยังระบุด้วยว่า จากนี้ไปสถาบันศึกษาควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี,การคิดเชิงวิเคราะห์,การคิดเชิงสร้างสรรค์ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคตที่สำคัญคือบทบาทของสถาบันการศึกษาต้องไม่จำกัดแค่การให้ความรู้ประสบการณ์การเรียนแต่ต้องบ่มเพาะความฉลาดและเสริมสร้างพรสวรรค์โดยเพิ่มพูนทักษะให้รอบด้านเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและสร้างให้กับโลกในภาพรวม ซึ่งแม้จะเหลือเวลาอีกเพียง 4-5 ปี แต่ยังถือว่าไม่สายเกินไปในการที่ทุกภาคส่วนจะเร่งปรับตัวช่วยเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต.-สำนักข่าวไทย