กรุงเทพฯ 22 เม.ย.- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โชว์ผลงาน 6 เดือน ยอดตั้งโรงงานใหม่กว่า 1,000 โรง เงินลงทุนกว่า 56,000 ล้านบาท ตรวจกำกับโรงงานเป็นไปตามเป้า ต่อยอดโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย พร้อมนำไอทีมาพัฒนางานบริการและตรวจกำกับให้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ยอดตั้งโรงงานใหม่ 1,110 โรงงาน เงินลงทุน 56,354.19 ล้านบาท การจ้างงาน 31,330 คน กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ ในส่วนของการขยายโรงงานมีจำนวน 152 โรงงาน เงินลงทุน 41,510.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.41 % การจ้างงาน 37,550 คน เพิ่มขึ้น 52.02 % ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 361 โรงงาน ลดลง 8.38% เงินลงทุน จำนวน 21,427.65 ล้านบาท ลดลง 4.57% เลิกจ้างงาน 12,172 คน ลดลง 8.74% สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่โรงงานขนาดเล็กส่วนใหญ่และขนาดกลางบางส่วนได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19
“แม้ยอดตั้งโรงงานใหม่จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าแนวโน้มการลงทุนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง อีกทั้งประเทศไทยยังมีมาตรการภาครัฐสนับสนุนการลงทุน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงินและการคลัง คาดว่าในปีนี้ยอดตั้งโรงงานแห่งใหม่และขยายกิจการโรงงานตลอดทั้งปีน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องเฝ้าจับตา ผลกระทบสงคราม อย่างระมัดระวัง” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว
สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ได้ตั้งเป้าไว้ในปีงบประมาณ 2565 นั้น ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีการออกมาตราการทางกฎหมาย เพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยกว่า 30 ฉบับ เช่น การเพิ่มโทษผู้ลักลอบทิ้งกาก หรือแอบ ปล่อยน้ำเสียโดยไม่ทำการบำบัด การต้องทำรายงานประเมินความเสี่ยงสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ยังสั่งดำเนินคดีกับโรงงานที่ไม่รายงานการรับหรือนำกากออกนอกโรงงานกว่า 4 หมื่นราย รวมทั้งโรงงานที่ไม่ทำรายงานประเมินความเสี่ยงอีกกว่า 700 โรงงาน ด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบ กรอ.นำระบบจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (E-fully Manifest) มาใช้ในการกำกับดูแลสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำครบวงจร สามารถติดตามรถขนส่งสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในระบบ E-fully Manifest ได้แบบ real time โดยหลังจากเปิดใช้งานระบบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 การบำบัด / กำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดย 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 64 – มีนาคม 65) ของเสียอันตรายเข้าสู่ระบบ 0.79 ล้านตัน ของเสียไม่อันตรายเข้าสู่ระบบ 10.8 ล้านตัน และการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบให้โรงงาน 9 ราย นํามูลฝอยติดเชื้อมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานเป็นการชั่วคราว เป็นการสนับสนุนให้สามารถนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี ทำให้ความสามารถในการรับมูลฝอยติดเชื้อไปกําจัดเพิ่มขึ้นเป็น 1,150 ตันต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อปริมาณที่เกิดขึ้น โดยมีการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อรวมแล้วทั้งสิ้น 13,247.55 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 65)
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเงินทุน มีการสนับสนุนผู้ประกอบการในการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร ครึ่งปีแรกมีการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรแล้วมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท
“กรอ. ยังได้นำไอทีมาพัฒนางานบริการและตรวจกำกับให้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น มีระบบ POMS ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังการระบายมลพิษจากโรงงาน 24 ชั่วโมง 359 โรงงาน คลอบคลุม 45 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบค่าการระบายมลพิษผ่านมือถือได้ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมายื่นเอกสาร จึงมีการพัฒนาระบบขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (HSSS) ระบบอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ระบบจดทะเบียนเครื่องจักรออนไลน์ สำหรับระบบการขอรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับที่ 1 – 5 ผ่านช่องทางออนไลน์ จะเริ่มดำเนินการ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป และยังมีแผนพัฒนาระบบการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้อีกด้วย” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว.-สำนักข่าวไทย