กรุงเทพฯ 12 เม.ย. – กฟผ.ขอนำเข้าแอลเอ็นจี ปี 65 จำนวน 2 ลำเรือ ตามหลักเกณฑ์ Energy Pool Price ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนร้องเพลงรอ ป.ป.ช.ตรวจสอบให้เสร็จสิ้น หลังมีผู้แจ้งตรวจสอบการประมูล
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แจ้งขอนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในปี 2565 จำนวน 2 ลำเรือ หรือประมาณ 120,000 ตัน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งทางสำนักงาน กกพ.ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์จะต้องไม่แพงกว่าราคาน้ำมันที่นำมาผลิตไฟฟ้า เพราะในขณะนี้ราคาน้ำมันถูกกว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีในราคาตลาดจร (SPOT PRICE) ซึ่งการนำเข้าก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Energy Pool Price นับเป็นผลดีต่อประเทศ ต่อประชาชนที่จะได้ค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำ ซึ่ง กกพ.ก็อยากเห็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายใหม่ (New Shipper) จากภาคเอกชนรายอื่นๆ เจรจานำเข้าในปีนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าจากปัญหาแอลเอ็นจีราคาสูงมาก ก็ทำให้รายอื่นๆ ไม่มีการนำเข้าในปีนี้ นอกเหนือจาก ปตท. และ กฟผ. ที่เพิ่งจะยื่นเข้ามา
“ปีนี้กระทรวงพลังงานประเมินว่าจะต้องใช้แอลเอ็นจี ราว 4.5 ล้านตัน ซึ่งต้นปีนี้มี ปตท.นำเข้าเพียงรายเดียว ในขณะที่ กฟผ.จะนำเข้าเป็นรายที่ 2 โดยขณะนี้หลายโรงไฟฟ้าหันไปใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลแทนก๊าซ เช่น กลุ่มราชบุรี โรงไฟฟ้าบางปะกง ก็อาจจะทำให้ปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีลดลงได้ โดยการต้องนำเข้าเพิ่มก็มาจากก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าแผนงานเดิม เช่น แหล่งเอราวัณ เป็นต้น” นายคมกฤช กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 9 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติ ภายใต้การกำกับ กกพ. หรือ Energy Pool Price ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่มีผู้ได้รับการคัดเลือก 43 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564 นั้น ในขณะนี้ยังไม่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่อย่างใด โดย กฟภ.แจ้งว่า เนื่องจากมีผู้ไปยื่นฟ้องร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่ามีการฮั้วประมูล และการพิจารณาของ ป.ป.ช.ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น จึงยังไม่ลงนาม ซึ่งก็คาดหวังว่า การพิจารณาของ ป.ป.ช.จะเสร็จสิ้นโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย