ทำเนียบฯ 5 เม.ย. – ครม.พอใจสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทางเร็วกว่าแผน สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เปิดให้บริการปี 68 สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดให้บริการ ก.ย.65 สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดให้บริการ มิ.ย.65 เดินหน้ารถไฟฟ้าต่างจังหวัด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบความคืบหน้าการการสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการแล้วเสร็จ งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 89.70 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.44 คาดว่า เปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568,
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.70 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.74 คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า งานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 84.90 เร็วกว่าแผนร้อยละ 4.19 คาดว่า เปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2565 สำหรับโครงการ อยู่ระหว่างการประกวดราคา มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 37.75 ยังเป็นไปตามแผน
และงานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 9.10 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.73 เนื่องจาก รฟม. ประกาศยกเลิกประกวดราคางานโยธา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม คาดว่า เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานด้านการเวรคืน คืบหน้าร้อยละ 17.80 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.20 งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 5 เป็นไปตามแผน โดยคาดว่า เปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายน 2570
ส่วนโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4 โครงการ ประกอบด้วย การสร้าง รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต เปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2569, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2571,โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 และโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2571 ขณะที่โครงการและแผนงานของรฟม.ในอนาคต ในด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม.ได้เตรียมความพร้อม การใช้ระบบตั๋วร่วม EMV contactless ในรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ภายในปี 2565
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของด้านการเงินของ รฟม.ในปี 2564 มีผลกำไรสุทธิ 1,927 ล้านบาท มีรายได้ 16,018 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุน 10,434 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวม 14,090 ล้านบาท เบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 สูงกว่า ครม.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน และยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล 104 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 33.48 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 24.26 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 6.73 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 1.20 จากเป้าหมายร้อยละ 0.85 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของรฟม.เสร็จเรียบร้อยแล้ว .-สำนักข่าวไทย