กรุงเทพฯ 8 มี.ค. – สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยระบุ บริษัทผู้ผลิตปุ๋ย 34 บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ จะเร่งหาแหล่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีใหม่ ทดแทนส่วนที่เคยซื้อจากรัสเซียและเบลารุส หลังจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ต้องปิดท่าเรือขนส่งในยูเครน ประกอบกับการคว่ำบาตรและปิดช่องทางทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซียทุกช่องทาง แต่ไม่มั่นใจว่าจะแย่งซื้อกับทั่วโลกได้ รวมทั้งอาจขนส่งมาไม่ทันฤดูการผลิตในอีก 2 เดือนข้างหน้า
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยกล่าวว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ไม่สามารถสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากรัสเซียและเบลารุสได้เนื่องจากการขนส่งต้องผ่านท่าเรือในยูเครนซึ่งปิดแล้ว นอกจากนี้นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซียและปิดช่องทางทำธุรกรรมการเงินทุกช่องทาง โดยไทยนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียปีละ 470,000 ตันและเบลารุส 240,000 ตันจากปริมาณนำเข้าทั้งหมด 5 ล้านตันหรือคิดเป็น 14% โดยชนิดปุ๋ยที่นำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (MOP) จากเบลารุสซึ่งใช้กับปาล์มน้ำมันและเป็นแม่ปุ๋ย NPK ส่วนที่นำเข้าจากรัสเซียคือ ปุ๋ย 15 15 15 และไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) ซึ่งนำมาเป็นแม่ปุ๋ย NPK สูตรต่างๆ ที่ใช้กับนาข้าว พืชสวน และพืชไร่
ทั้งนี้ถือว่า บริษัทผู้ผลิตปุ๋ย 34 บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมไม่ได้สต็อกแม่ปุ๋ยไว้ โดยเดือนมกราคม 2565 นำเข้าปุ๋ยลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาขายทำให้บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้จึงลดการผลิตปุ๋ยลง
ในการหาแม่ปุ๋ยทดแทนส่วนที่นำเข้าจากรัสเซียและเบลารุส บริษัทต่างๆ ต้องขอซื้อจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดเป็นที่แรก แต่ต้องแย่งซื้อกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย นอกจากนี้จีนมีมาตรการจำกัดการส่งออกปุ๋ยตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่ให้ราคาปุ๋ยเคมีภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลกและสงวนไว้ใช้เพิ่มผลผลิตในประเทศในฤดูกาลที่จะมาถึง โดยมาตรการนี้ถึงเดือนมิถุนายน 2565 แล้วอาจขยายระยะเวลาออกไปอีก ส่วนแหล่งซื้ออื่นๆ ได้แก่ แคนาดาซึ่งเป็นประเทศส่งออก MOP หลักของโลกเกิดน้ำท่วมใหญ่ สหรัฐอเมริกาเกิดพายุเฮอริเคนไอดาซึ่งกระทบต่อการผลิตฟอสเฟต(Phosphate) และการส่งออกปุ๋ย ส่วนอียิปต์จำกัดการส่งออกปุ๋ยยูเรีย (Urea) โดยประมาณ 55% ของจำนวนที่ผลิตได้ต้องขายภายในประเทศ
นอกจากนี้ แม้แย่งซื้อแม่ปุ๋ยได้ แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือ การขนส่ง โดยใกล้ที่สุดจากจีนใช้เวลา 1-1 เดือนครึ่ง หากประเทศอื่นๆ นานกว่า 2 เดือนขึ้นไป ขณะที่ฤดูกาลผลิตของไทยจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมจึงนำเข้าไม่ทันต้นฤดูกาลผลิตแน่นอน
นายเปล่งศักดิ์กล่าวย้ำว่า สาเหตุที่บริษัทผู้ผลิตปุ๋ย 34 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคมไม่ได้สั่งซื้อแม่ปุ๋ยมาเก็บไว้เนื่องจากข้อจำกัดด้านราคา โดยราคานำเข้าแพง แต่กรมการค้าภายในกำหนดเป็นสินค้าควบคุมจึงมีเพดานราคาและไม่ให้ปรับขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุน ล่าสุดจึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้เข้าใจอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยและผ่อนปรนมาตรการควบคุมซึ่งจะทำให้มีปุ๋ยเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบทั้งห่วงโซ่คือ ผลผลิตจะไม่ได้คุณภาพต่อการบริโภคและการส่งออก.-สำนักข่าวไทย