นนทบุรี 9 มิ.ย.-รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เกาะติดลงพื้นที่สำรวจทุกพื้นที่ที่เกษตรกรทั่วประเทศสามารถซื้อปุ๋ยเคมี-ยาชนิดต่างๆ ราคาลดลงต่อเนื่อง แถมปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ขณะที่สินค้าผักสดลดลงเช่นกัน
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่และได้รับรายงานพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรทั่วประเทศขณะนี้ โดยการจำหน่ายกลุ่มสินค้าปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชส่วนใหญ่มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณสตอกสินค้ามีเพียงพอ และยังได้พูดคุยกับสหกรณ์ ร้านค้า และเกษตรกร พบว่าเกษตรกรในพื้นที่เริ่มซื้อปุ๋ยเคมีไปใช้กันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา เนื่องจากขณะนี้อยู่ในฤดูเพาะปลูกข้าว โดยช่วงแรกนิยมใช้ปุ๋ยยูเรีย และช่วงถัดมานิยมใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 เป็นหลัก ส่วนปุ๋ยสูตรอื่นๆ ใช้เป็นตัวเสริมธาตุอาหาร หรือใช้เพาะปลูกพืชชนิดอื่น ทั้งนี้ ปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภาพรวมราคาแม่ปุ๋ย เฉลี่ยภาคกลาง ปรับลดลง 26-50% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2565 โดยแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ราคาลดลง 50% และ 47% ตามลำดับ แม่ปุ๋ยฟอสเฟต (18-46-0) ราคาลดลง 26% และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) ราคาลดลง 26% ในเขตพื้นที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ราคาปุ๋ยก็ปรับลดลงเช่นกัน เช่น แม่ปุ๋ยยูเรีย ราคาจำหน่ายเคยขึ้นไปสูงกว่า 1,600 บาท/กระสอบ ปัจจุบันราคา 800 บาท/กระสอบ ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาปุ๋ยปรับลดลง มาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แม้ว่าจะยังคงผันผวนอยู่ แต่ก็ปรับลดลงมาแล้ว 20-25% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2565 นอกจากนี้ ความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่ได้สิ้นสุดฤดูเพาะปลูกแล้ว และสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงปลายฤดูเพาะปลูก
ขณะที่กลุ่มยาปราบศัตรูพืช ขณะนี้ราคาก็ปรับลดลงมาแล้วเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้ว อาทิ ยาฆ่าหญ้ากลูโฟซิเนต ราคาลดลง 25% ไกลโฟเซต ราคาลดลง 19% และยาฆ่าแมลงอะบาเมกติน ราคาลดลง 28%
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศจะติดตามสถานการณ์ปริมาณและราคาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเมื่อต้นทุนนำเข้าปรับลดลง ราคาจำหน่ายปลายทางก็ต้องปรับลดลงสอดคล้องกันด้วย หากเกษตรกรพบการฉวยโอกาสจำหน่ายแพงโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือการไม่ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน สามารถแจ้งต่อกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทางสายด่วน 1569 หรือทางไลน์@MR.DIT เจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบ ถ้าพบผิดจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่ทรงตัวและปรับลดลง ตามการจัดโปรโมชันของห้าง ทั้งข้าวสาร น้ำตาล อาหารกระป๋อง น้ำปลา ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ น้ำยาซักผ้า นมผง นมยูเอชที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผักสดชนิดต่างๆ ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย โดยปริมาณเริ่มเข้าสู่ตลาดเป็นปกติแล้ว อย่างมะนาว ที่เคยมีปัญหาช่วงแล้งหนักๆ เดือน มี.ค.-เม.ย. ตอนนี้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาด 75-80 ตัน/วัน จากก่อนหน้านี้ 45-50 ตัน/วัน ทำให้ราคาเบอร์ 1-2 ปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 4.60 บาท/ลูก จากก่อนหน้านี้เฉลี่ย 5 บาท/ลูก และมีแนวโน้มปรับลดลงอีก ส่วนผักชี มีผลผลิตเข้าสู่ตลาด 130 ตัน/วัน จากช่วงที่ลดมีแค่ 70-80 ตัน/วัน โดยราคาก็เริ่มปรับลดลง ที่ตลาดกลาง 110 บาท/กก. ตลาดสด 130 บาท/กก. และผักอื่น ๆ เช่น คะน้า ราคา 43.50 บาท/กก. กวางตุ้ง 34 บาท/กก. ผักบุ้งจีน 31 บาท/กก. ต้นหอม 103 บาท/กก. พริกขี้หนู 88 บาท/กก. เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการรับมือกับปัญหาผักขาดแคลนหรือปริมาณลดลง กรมฯ ได้มีมาตรการติดตามสถานการณ์ผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดกลางสินค้าเกษตรเป็นตัวตั้ง หากมีแนวโน้มผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง ก็จะเข้าไปทำการเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งผลิตอื่น หรือตลาดอื่น เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งได้ใช้วิธีการนี้บริหารจัดการในส่วนของมะนาว และผักชี ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ด้านราคาไม่ปรับเพิ่มขึ้นจนเกินไป.-สำนักข่าวไทย