ทำเนียบฯ 1 มี.ค.- ครม.กำชับเร่งแก้ปัญหา “การบินไทย” มุ่งปฏิรูปธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายปี 2565 จำนวน 53,000 ล้านบาท/ปี เดินหน้าลดจำนวนพนักงาน พอใจหาเงินกู้ใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท ลงนาม มี.ค.นี้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ด้วยการปรับลดฝูงบินเครื่องบินเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพ จาก 116 ลำ เหลือจำนวน 58 ลำ การปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร 23,100 ล้านบาท/ปี เมื่อเทียบกับปี 2562 การปรับกระบวนการทำงาน ด้วยการปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้ออากาศยาน จากเครื่องบิน 8 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และการปรับปรุงข้อบังคับการทำงาน
การปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร โดยลดขนาดองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานเหลือ 15,200 คน จากเดิมในปี 2562 มีพนักงาน 29,500 คน ทำให้ค่าใช้จ่ายในเดือนสิงหาคม 2564 มีเหลือเพียง 750 ล้านบาท จากเดิมมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 2,675 ล้านบาท ปัจจุบันได้ปรับลดจำนวนพนักงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เมื่อปฏิรูปธุรกิจมุ่งลดค่าใช้จ่ายปี 2565 จำนวน 53,000 ล้านบาท/ปี สำหรับการหารายได้จากช่องทางอื่น เปลี่ยนไปให้บริการขนส่ง จำหน่ายสินค้าและอาหารอื่น นอกเหนือจากอาหารบนเครื่องบิน
การบินไทย ยังใช้เส้นทางบินสู่เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค โดยร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรเชื่อมต่อเที่ยวบินและเมืองรองในภูมิภาค เช่น ทวีปอเมริกา เพื่อหารายได้เพิ่มท่ามกลางโควิด-19 จึงต้องปรับแผนการบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์
หลังจากการบินไทย เดินหน้าขายทรัพย์สิน เช่น การขายหุ้นบริษัทย่อย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ และที่ดินและอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานหลานหลวง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขาย อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ และเครื่องบินที่ไม่ต้องการใช้งาน รวมทั้งเดินหน้าแผนจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อเติมสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564-2565 ในด้านการปรับโครงสร้างหนี้ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย การปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย การเจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา และการเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การบินไทยได้เร่งจัดหาเงินกู้ใหม่ 25,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน จากเดิมต้องการ 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องฟื้นฟูกิจการในปี 2565 คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสินเชื่อใหม่ ไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ การปรับโครงสร้างทุนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น เตรียมยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมาย ภายในเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย