กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสักเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและป่าสักชลสิทธิ์ โดยกอนช. คาดว่า ในวันที่ 22 ต.ค. น้ำเหนือที่ไหลผ่านจ. นครสวรรค์จะเพิ่มสูงสุดและส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงประมาณ 20-40 ซม. ช่วง 20-30 ต.ค.นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง และป่าสักเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง โดยเฉพาะที่ที่อ.เมือง จ.ตาก วัดปริมาณฝนสะสม 3 วันได้ 169.4 มิลลิเมตร และที่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร วัดปริมาณฝนได้ 70.8 มิลลิเมตร ซึ่งน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง แล้วบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ จ.นครสวรรค์ ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์วันนี้ อยู่ในอัตรา 2,678 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานีที่ไหลมาบรรจบจึงส่งผลให้มีปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา 3,148 ลบ.ม./วินาที
นายประพิศกล่าวต่อว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินว่า ระดับน้ำที่ไหลผ่านอ.เมือง จ. นครสวรรค์จะเพิ่มสูงสุดเป็น 3,000-3,100 ลบ.ม./วินาทีในวันที่ 22 ต.ค. กรมชลประทานจึงใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่างๆ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมระดับน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาทในเกณฑ์ 2,700 ลบ.ม./วินาที โดยวันนี้อยู่ที่ 2,691 ลบ.ม./วินาทีมากกว่าเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,673 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาลงไปสูงขึ้นประมาณ 20-40 ซม. ในช่วงวันที่ 23-30 ต.ค. 64 ซึ่งออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบแล้ว
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักฯ อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที พร้อมบริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อน ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกไม่ให้เกิน 700 ลบ.ม./วิ โดยวันนี้อยู่ที่อัตรา 693 ลบ.ม./วินาทีมากกว่าเมื่อวานซึ่งอยู่ที่ 690 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ในอัตรา 142 ลบ.ม./วินาทีมากกว่าเมื่อวานนี้ซึ่งรับเข้า 110 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้จะพิจารณาปรับการระบายน้ำตามสถานการณ์โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและความมั่นคงของอาคารชลประทานเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย