กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – กระทรวง “เกษตรฯ” ผนึกผนึก “พาณิชย์” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่ ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่านโครงการธนาคารสีเขียว ซึ่งจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย 50,000-100,000 บาทต่อราย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนกล่าวว่า สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ. ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อต่อยอดขยายผลนโยบายของรัฐบาล ภายใต้วิกฤติโควิด-19
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการมี 6 ประการคือ
- เพื่อเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- เพื่อเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพ และธุรกิจใหม่ๆ ให้ประชาชน
- เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ
- เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน และเมือง แก้ปัญหา PM2.5
- เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศ
- เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตร และเศรษฐกิจ
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นแกนกลางในการเร่งส่งเสริมปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง สร้างหลักประกัน ให้กับครอบครัว และความมั่นคงในอนาคตควบคู่ไปกับการใช้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินและเป็นหลักประกันสินเชื่อในการเข้าถึงแหล่งเงินทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย 50,00-100,000 บาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงินเช่นธนาคาร เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว. เกษตรฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) กล่าวว่า จากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 87สัญญา 119,498 ต้น วงเงิน 134,375,912 บาท โดยแบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 50,000 ถึง 100,000 บาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92% ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน 4 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) 7 สัญญา คิดเป็น 8% ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาทซึ่งแสดงว่า ระบบการให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินได้ทำงานแล้วและมีโอกาสขยายสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกมาก เพราะที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผนึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดโครงการนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินและสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้ง ประเด็นการกำหนดมาตรฐานผู้ประเมินหลักทรัพย์ (ไม้ยืนต้น) การกำหนดมูลค่ามาตรฐานของหลักทรัพย์ (ไม้ยืนต้น) และประเด็นพันธบัตรต้นไม้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) แล้ว
สำหรับไม้ยืนต้นที่นำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายป่าไม้มาตรา 7 ยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป ทำให้เป็นโอกาสของประชาชน โดยมีไม้เศรษฐกิจทั้งไม้กลุ่มผลไม้ กลุ่มสมุนไพร กลุ่มยาง กลุ่มไผ่ และไม้ยืนต้นอื่นๆ หลายชนิด. – สำนักข่าวไทย