กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – GC ตั้งเป้าพลิกจากขาดทุน มุ่งสู่ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 4,500 ลบ. ในปี 68 กำหนด 3 กลยุทธ์หลัก ผลักดัน EBITDA เพิ่มอีก 10,000 ลบ. ภายในปี 2573 จากปี 67 อยู่ที่กว่า 30,000 ล้านบาท
ภายหลังจากปี 2567 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 ซึ่งมีรายได้รวม 604,045 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ 2% โดยขาดทุนสุทธิ 29,800 ล้านบาท ปี 2568 ตั้งเป้าพลิกจากภาวะขาดทุน ฝ่าจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มุ่งลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ 4,500 ล้านบาทต่อปี ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพแบบองค์รวม ปรับโครงสร้างต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เสริมประสิทธิภาพองค์กร และเพิ่มสภาพคล่อง เสริมศักยภาพการแข่งขันพร้อมขยายธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ (High Value & Low Carbon Business) เตรียมนำเข้าอีเทนจากสหรัฐ เป็นรายแรกของประเทศ เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว เดินหน้าผลักดันมาบตาพุดให้เป็น Specialty Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายศักยภาพของ allnex และขับเคลื่อนธุรกิจ Bio & Circularity เพื่อสร้างโซลูชันที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า อุตสาหกรรมในภาพรวมกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จากนโยบายสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลง และภาวะอุปทานส่วนเกินในธุรกิจปิโตรเคมี ส่งผลให้ปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 604,045 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ 2% โดยขาดทุนสุทธิ 29,800 ล้านบาท เมื่อหักรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและขาดทุนจากการปรับโครงสร้าง แต่ GC ยังเดินหน้าพลิกธุรกิจ หยุดภาวะขาดทุน และมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งขยายไปยังธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ
GC มุ่งมั่นพลิกผลประกอบการด้วย Holistic Optimization เพื่อเร่งนำธุรกิจกลับสู่สถานการณ์ปกติท่ามกลางจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 4,500 ล้านบาทต่อปี ผ่านการประหยัดค่าใช้จ่าย เสริมสภาพคล่องจากสินทรัพย์ที่มี และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้วยมาตรการระยะกลางผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเสริมศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูง และการเติบโตในธุรกิจที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้า EBITDAเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2573 จากปี2567 EBITDA อยู่ที่ 33,755 ล้านบาท
GC ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และรักษาเสถียรภาพของธุรกิจ โดยบรรลุข้อตกลงการจัดหาอีเทนกับ ปตท. คาดว่าจะได้รับการจัดสรรปริมาณอีเทนเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปี 2567 พร้อมกันนี้ บริษัทยังใช้บริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง Asset Light และลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (Capex) รวมถึงดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน เพื่อรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
ส่วนการเสริมความมั่นคงด้านวัตถุดิบและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนในระยะยาว GC เป็นรายแรกจะที่นำเข้าอีเทนจากสหรัฐ มาใช้ในประเทศไทย เพื่อทดแทนวัตถุดิบอื่นๆ โดยได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ ปตท. และพันธมิตรระดับโลก ได้แก่ บริษัทย่อยใน Enterprise Products Partners บริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด และบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด เพื่อจัดหาและขนส่งอีเทนคุณภาพสูง 400,000 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ GC สามารถนำอีเทนมาใช้เป็นวัตถุดิบได้โดยไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงงาน ซึ่งได้รับการออกแบบให้รองรับอีเทนได้ตั้งแต่ต้น ลดความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการในปี 2573 การเสริมศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูง
GC เดินหน้า allnex SEA Hub ในระยอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในเฟสแรก และคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้น Waterborne Coatings และ Coating Resins ชนิดพิเศษ เพื่อขยายตลาดในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ในขณะเดียวกันบริษัทผลักดัน allnex ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านกลยุทธ์ขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ในปี 2567 allnex ได้เพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดที่ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน และลงทุนในโรงงานแห่งใหม่ที่ เมืองมะหาด ประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 โครงการนี้ช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตและการกระจายสินค้าในตลาดที่มีการเติบโตสูง
นอกจากนี้ การพัฒนามาบตาพุดเป็น Specialty Hub ยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ GC เพื่อรองรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ โดยอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อดึงดูดพันธมิตรระดับโลกที่จะส่งเสริมธุรกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการศึกษาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ เพื่อนำโครงการใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Specialty Hub โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เฉพาะทางที่ครบวงจร อาทิ การร่วมมือกับ Toray เพื่อศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับทุนสนับสนุนญี่ปุ่น จากรัฐบาล คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2570 การเติบโตในธุรกิจที่ยั่งยืน
GC มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านโซลูชันเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตลาดและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ พลังงานสะอาด วัสดุชีวภาพ ไปจนถึงเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemicals) เพื่อตอบสนองแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย GC ให้ความสำคัญกับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักในธุรกิจ Bio & Circularity ได้แก่
1.โอลิโอเคมี (Oleochemicals) มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จากพืช ผ่านการดำเนินงานของ GGC และ Emery ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ GC Group พัฒนาโซลูชันเคมีชีวภาพที่สามารถทดแทนการใช้วัตถุดิบฟอสซิลในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล และเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ
2.พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ผ่าน NatureWorks บริษัทร่วมทุนกับ Cargill ในการพัฒนาและผลิต PLA ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ รองรับตลาดบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปลายปี 2568
3.พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastics) เป็นผู้บุกเบิกและขยายตลาดวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูงมาอย่างยาวนาน โดย ENVICCO ผลิต rPET และ rHDPE ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
4.เชื้อเพลิงและโพลีเมอร์ชีวภาพ (Biofuels & Biopolymer) – GC ขยายศักยภาพผ่าน Biorefinery ที่ครบวงจร ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงผลิตภัณฑ์ Bio-chemicals และ Bio-polymer สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ก่อสร้าง ตกแต่ง ชิ้นส่วนยานยนต์ ขิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ
นอกจากนี้ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน GC ได้รับการจัดอันดับ Top 1% ในดัชนีความยั่งยืนของดาวน์โจนส์ (DJSI) สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั่วโลกจาก S&P Global และครองอันดับ 1 ต่อเนื่อง 6 ปี เป็นรายแรกและรายเดียวของโลกในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้กับทุกภาคส่วน และล่าสุด GC ได้รับผลการประเมินระดับ A (Leadership Level) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด 5 ปีต่อเนื่องด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) ภายใต้กรอบการประเมินของสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก CDP ประจำปี 2567 จากจำนวนบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมประเมิน กว่า 22,000 บริษัท.-517-สำนักข่าวไทย