กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-จีซีไม่ถอดใจลงทุนปิโตรเคมีสหรัฐ ย้ำประกาศแผนเดินหน้ากลางปีนี้ ส่วนฐานผลิตในไทย พร้อมรับมือ หากใช้ก๊าซฯ ลดลงสูงสุดร้อยละ 40 หาก ปี 65 แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯต่ำกว่าแผน รุกตลาด HVP คุยเงินหนาพร้อมซื้อกิจการ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เปิดเผยว่า โครงการปิโตรเคมีในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจา โดยยอมรับว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลก ประกอบกับพันธมิตรเกาหลีใต้ถอนตัวจากโครงการ ก็ส่งผลทำให้โครงการนี้ชะลอไปจากแผนงานเดิม แต่บริษัทยังตั้งเป้าหมายว่า ในกลางปี 2564 นี้คงจะจะประกาศได้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร โดยขณะนี้มีการเจรจาทั้งด้านการเงิน ด้านพันธมิตรรายใหม่ ที่มีผู้สนใจจาก 3 ทวีปหลัก รวมทั้งยื่นใบสมัครด้านสินเชื่อ (APPLY LOAN )กับทางกระทรวงพลังงานของสหรัฐ รวมทั้งจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม จากโครงการที่ชะลอมาก็คาดว่าภาพรวมแล้วค่าลงทุนก่อสร้างจะต่ำลง
ส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณ ที่ขณะนี้ มีแนวโน้มว่า ผู้ผลิตรายใหม่ คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. อาจจะเข้าพื้นที่ล่าช้า และส่งผลต่อการผลิตก๊าซฯในปี 2565 หลังหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมนั้น นายคงกระพัน กล่าวว่าทาง จีซีได้ เตรียมพร้อม ซึ่งในขณะนี้ได้ลงทุนปรับกระบวนการผลิตของโรงโอเลฟินส์ ให้สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย ยืดหยุ่น จากเดิมใช้ก๊าซฯเกือบทั้งหมด ก็ปรับเป็นใช้แนฟทา และก๊าซหุงต้ม ถึงร้อยละ 40 ซึ่งส่วนนี้เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงกลั่นฯของจีซี และสามารถจัดซื้อในตลาดได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นขณะนี้ ก็คาดว่าจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์โดยรวมขยับขึ้น และจีซีก็ได้รับผลดีจากกำไรสตอกน้ำมัน และต้นทุนของจีซีก็ยังต่ำเพราะใช้ก๊าซฯ เป็นส่วนใหญ่
สำหรับปี 64 จีซี งคงเป้ายอดขายปีนี้เติบโตที่ระดับร้อยละ 8-10 เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการกำลังผลิตใหม่ 3 โครงการในจ.ระยองแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันทิศทางราคาขาผลิตภัณฑ์ปีนี้ฟื้นตัวจากปีก่อน หลังจากเมื่อช่วงไตรมาส 2/2563 และไตรมาส 3/2563 เป็นราคาต่ำสุด ดังนั้นหากปริมาณการขายเพิ่มขึ้น บวกกับราคาขายที่อาจปรับตัวสูงขึ้นมาก ก็มีโอกาสที่ยอดขายในปีนี้จะเติบโตเกิน ร้อยละ10 ได้
ในปีนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ(M&A) หลายโครงการ ที่คาดว่าจะมีความชัดกเจนภายในปีนี้ได้บ้าง แต่ยังไม่สามรถเปิดเผยรายละเอียดได้ จะเน้นโครงการที่เป็นผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง (High Value Products: HVP) หรือมูลค่าเพิ่มสูง โดยบริษัทมีเงินสดในมือมากพอสมควร และมีศักยภาพในการจัดหาเงินกู้หากตกลงได้ใน โครงการที่เหมาะสม
สำหรับ ในปี 2563 ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่มีสายผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร และการที่ GC ดำเนินมาตรการรองรับ อาทิเช่น การประหยัดค่าใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาท ส่งผลให้ บริษัทฯ มี Adjusted EBITDA ในปี 2563 อยู่ที่ 28,579 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 นอกจากนี้ ด้วยภาวะตลาดปิโตรเคมีในบางสายผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปี บริษัทฯ สามารถพลิกกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาส 4/2562 โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทฯ มี Adjusted EBITDA ในไตรมาสที่ 4/2563อยู่ที่ 9,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากไตรมาส 3/2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 132 จากไตรมาส 4/2562 ซึ่งเมื่อรวมถึงผลกระทบทางบัญชีจากสต๊อกน้ำมันและสินค้าคงเหลือ (Stock Gain & Net Reversal of NRV) บริษัทฯ จึงรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2563 ที่ 6,405 ล้านบาท คิดเป็น > 200% เมื่อเทียบกับปี 2562 พลิกปี 2563 ให้มีกำไรสุทธิ ที่ 200 ล้านบาท
สำหรับ กลยุทธ์ดำเนนการการ ได้จัดทำ 3 Steps ได้แก่ “Step Change” ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลงทุนต่อเนื่อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ “Step Out” แสวงหาโอกาสการเติบโตสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ หรือในต่างประเทศและ “Step Up” เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล พร้อมมุ่งสู่อนาคตด้วยการทำ Organization & Digital Transformation.-สำนักข่าวไทย