นนทบุรี 11 ม.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์เอาจริง ดึงหน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมด้วยลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล เซ็น MOU ป้องกันสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และบริการของไทย รวมทั้งการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำกรอบความร่วมมือในรูปแบบของ MOU ร่วมกับเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงาน ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มีประชาชนใช้บริการมากสุด และดึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าออนไลน์มาร่วมด้วย เพื่อทำ MOU ฉบับนี้ขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด พร้อมการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ให้มีความตระหนักรับผิดชอบต่อการค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่มาใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การเซ็น MOU ฉบับนี้ขึ้นมา ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งระบุรายชื่อตลาดและเว็บไซต์ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทยอยู่ในรายงานดังกล่าว ขณะเดียวกันทาง EC ได้ชื่นชมประเทศไทยที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ดังนั้น การทำ MOU ในครั้งนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมั่นว่า นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจับกุมผู้กระทำละเมิดซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 231 คดี ยึดของกลาง 42,249 ชิ้น ในปี 2563 ตั้งแต่ (มกราคม – พฤศจิกายน) และการระงับหรือปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วกว่า 1,500 URLs ตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้น การจัดทำ MOU ครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง อันจะมีส่วนผลักดันการค้าออนไลน์ให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากละเมิดในท้องตลาดเป็นการละเมิด บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นกรณี ของสหรัฐฯ ได้มีการประเมินสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้า 301 พิเศษ ประจาปี 2563 ซึ่งไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้กล่าวถึงปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ในการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดสูง (Notorious Markets) ประจาปี 2562 USTR ระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง เป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ www.shopee.co.th ดังนั้น การจัดระบบดังกล่าวจะทำให้การละเมิดทรัพย์ทางปัญญาของไทยจะลดน้อยลงได้อย่างแน่นอน . – สำนักข่าวไทย