กรุงเทพฯ 16 ธ.ค. – โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน กฟผ. พร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 16 ธ.ค. 63 พร้อมเร่งแผนโซลาร์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์
นายทิเดช เอี่ยมสาย ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 เป็นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามยุทธศาสตร์การผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนคลองตรอน รวมกำลังผลิตติดตั้ง 87.95 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ. กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์อีกหนึ่งแห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนธันวาคม 2564
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน เป็นโรงไฟฟ้าที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและ กฟผ. ซึ่งเป็นโครงการลำดับที่ 9 ในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนคลองตรอน อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 11.83 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยนำพลังงานหมุนเวียนหลากหลายรูปแบบมาผสานกัน และได้วางแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน หรือเรียกว่าระบบไฮบริด ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 9 เขื่อนของ กฟผ. โดย โครงการแรก ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ยอมรับว่าล้าช้ากว่าแผน เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การจองตู้คอนเทนเนอร์วัสดุอุปกรณ์จากจีนล่าช้า คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ช่วงกลางปี 2564 ส่วนโครงการอื่นๆก็จะทยอยดำเนินการต่อไป . – สำนักข่าวไทย