กรุงเทพฯ 25 พ.ย.-คลังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 2 คาดจีดีพีปี 64 โต 4%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.2% หลังจากนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ติดลบลดลงมาอยู่ที่ 6% รวมถึงเสถียรภาพทางการคลังยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งอยู่ที่ 241,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 4 เท่าของหนี้ระยะสั้น ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 49.4% อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้า จีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 4% และในช่วง 5 ปี คาดว่าจะขยายตัว 3-5% โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาหลายโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการคนละครึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และสามารถเข้าถึงประชาชนและร้านค้าได้เป็นอย่างดี โดยเตรียมจะขยายโครงการคนครึ่งเฟส 2 ในปีหน้าด้วย
พร้อมย้ำว่า ไทยยังมีฐานะการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง สะท้อนจาก S&P จัดอันดับเครดิตของไทยที่ BBB+ โดยสิ่งสำคัญที่ S&P อยากให้ไทยพัฒนา คือ การลงทุนภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลเตรียมเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนการและจะผลักดันในโครงการที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ในอนาคต เช่น เทคโนโลยีและดิจิตอล ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในช่วงโควิด-19 ความต้องการเงินกู้ในประเทศของภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีการเข้าไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยมองว่าการกู้เงินในประเทศ และต่างประเทศ มีต้นทุนใกล้เคียงกัน ซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศจะเป็นอีกช่องทางในการกระจายการกู้เงิน แล้วการกู้เงินในต่างประเทศก็มีเงื่อนไขที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศต่อได้ โดยการกู้เงินในต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาเงื่อนไขสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การกู้เงินแลกกับเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ 2.การใช้ลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 3.การใช้ลงทุนในเชิงสังคม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย นำไปสู่โอกาสในการขยายในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ และ 4. การกู้มาใช้ในสาขาที่ประเทศต้องการ เช่น ดิจิตอล เทคโนโลยี และระบบขนส่งมวลชน
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2564 ยังไม่มีแผนการกู้เงินต่างประเทศ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นอกจากที่กู้เงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 1,500 ล้านบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น กระทรวงการคลัง ยังทำงานสอดประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลค่าเงินบาท โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ ธปท. จะมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป.-สำนักข่าวไทย