นนทบุรี 17 พ.ย. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมเสริมกลุ่มเกษตรให้เข้มแข็ง ส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่ครัวโลก
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมลงพื้นที่แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ในกิจกรรมส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่ครัวโลก พร้อมดันเป็นต้นแบบสินค้าตัวอย่างด้าน GI ชวนสินค้า GI อื่น ๆ เดินรอยตามพร้อมสู่ตลาดโลก อนาคตจะขยายไปยังตลาดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่มีศักยภาพ และถือเป็นต้นแบบสินค้า GI เป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพมาตรฐาน มีชื่อเสียงไปไกลถึงสหภาพยุโรป ด้วยเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความหอมที่โดดเด่นต่างจากข้าวชนิดเดียวกันที่ปลูกนอกพื้นที่ อีกทั้งยังคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ยังคงรสชาติ ความหอม อร่อยถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายตลาดไปจีนและมาเลเซีย โดยขณะนี้ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน GI ในจีนและมาเลเซียแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำคำขอจดทะเบียน GI ในอินโดนีเซีย คาดได้ยื่นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้และโรงสีในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมทั้งกลุ่มศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอดได้พัฒนาองค์ความรู้วิธีการปลูกข้าว เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าว GI คุณภาพ ที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดต่ำลง รวมถึงการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่มีการนำแกลบ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามตอบโจทย์เทรนด์ Zero Waste จนได้รับรางวัล Prime Minister Award ในหมวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) จากนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าการรวมกลุ่มผู้ผลิตสินค้า GI อย่างเข้มแข็งในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด สามารถเป็นชุมชนต้นแบบให้แก่ผู้ผลิตสินค้า GI ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
นายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้นำในการตั้งกลุ่มศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด กล่าวว่า การเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากวิถีดั้งเดิมที่ปลูกโดยการหว่านจะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30 – 35 กิโลกรัมต่อไร่ มาเป็นรูปแบบการทำนาหยอดที่ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 4 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 320 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัม โดยสินค้าดังกล่าวยังคงคุณภาพตามมาตรฐาน GI จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ทางกลุ่มฯ มีแผนที่จะขยายกลุ่มผู้ผลิตตามแนวทางนาหยอดให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป.-สำนักข่าวไทย