กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – กระทรวงอุตฯ ผนึกกำลัง 4 องค์กรยักษ์ใหญ่ ขานรับนโยบาย BCG ผลักดันมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคอุตสาหกรรม ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม สมอ.เตรียมออกมาตรฐานแนะนำ กระตุ้นผู้บริโภคพิจารณาซื้อสินค้า เตรียมเดินสายให้ความรู้ทุกภาคส่วน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือจีซี และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุในการทำลายสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลจึงประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (BCG โมเดล) บูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมใน 3 มิติพร้อมกัน ได้แก่ Bio Circular และ Green เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะ สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่กำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็น Big Brother ชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ด้วยการกำหนดมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ มาตรฐานการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เพื่อเป็นแนวทางให้นำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อนำไปสู่การไม่มีของเสีย. สามารถติดตามผ่าน www.tisi.go.th และhttps://www.facebook.com/tisiofficial
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนจัดสรรเงินทุนรองรับนโยบาย BCG เพื่อจัดการขยะอย่างเป็นระบบยั่งยืน การนำกลับมาใช้ใหม่ จึงร่วมกับ 12 องค์กรในตลาดทุนธรรมาภิบาล กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำรายการประจำปีเปิดเผยข้อมูลทุกรายในกิจกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อยใช้เป็นข้อมูลหลักในการลงทุน
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การนำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่า เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาความรู้ควบคุมกับการดำเนินธุรกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง การผลักดันเมือง Eco Town ผลักดันบริหารจัดน้ำอย่างมีคุณภาพ จัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ และนำกลับมาใช้ใหม่.-สำนักข่าวไทย