กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – สทนช.เร่งเสนอแผนแก้ลุ่มน้ำยมท่วมซ้ำซาก เพิ่มจุดเก็บกักน้ำ-ชะลอน้ำ ควบคู่แนวทางบริหารจัดการน้ำที่ท่วมขังจ.สุโขทัย สู่พื้นที่ท้ายน้ำให้นำไปใช้ประโยชน์
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมแม่น้ำยม ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพื่อลดผลกระทบประชาชน ปัจจุบัน จ.สุโขทัย ปริมาตรน้ำสูงสุดผ่านพ้นแล้วและจะลดลงตามลำดับ อ.ศรีสัชนาลัย ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้วเมื่อเวลา 20.00 น.ของวานนี้ (25 ก.ค.) โดย กอนช.ประเมินปริมาณน้ำหลากในเหตุการณ์ครั้งนี้ 384 ล้าน ลบ.ม. ไหลผ่านไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่คงค้างและอยู่ในระหว่างเร่งระบายในพื้นที่อีกประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมในเขตจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก 73,481 ไร่ และคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นดือนนี้
ทั้งนี้ ทุ่งบางระกำสามารถเก็บกักน้ำหลากประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือคาดว่าจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์วันที่ 1 กันยายน ในอัตราสูงสุด 1,238 ลบ.ม./วินาที (ลำน้ำรับได้ 3,500 ลบ.ม/วินาที) และจะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันที่ 2 กันยายน ในอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที โดย กอนช.ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกในอัตรา 93 ลบ.ม./วินาทีและฝั่งตะวันออกในอัตรา 62 ลบ.ม./วินาที เพื่อเก็กกักน้ำไว้ในระบบชลประทานและสามารถใช้เป็นน้ำต้นทุนส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรที่กำลังขาดแคลนน้ำอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลประโยชน์ต่อพื้นที่ตอนล่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำส่วนหนึ่งอีกด้วย อีกทั้งผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อสูบน้ำส่งไปเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ จ. ชลบุรี
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สทนช.วางแผนเพิ่มจุดเก็บกักน้ำและชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564 – 2580) มาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการ 3 ส่วน คือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยลุ่มน้ำยมตอนบนระยะเร่งด่วนเริ่มดำเนินปี 2564 ประกอบด้วย อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้น เริ่มปี 2565-2566 ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล”
ส่วนยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การจัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นเริ่มปี 65-70 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม ระยะยาว (หลังปี 70) ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยม ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาด้วย สำหรับลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง โดยมีแผนดำเนินการในอนาคตอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง รวมทั้งระบบผันน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำได้แก่ โครงการคลองผันน้ำยมน่าน ระยะกลาง เริ่มดำเนินการปี 2566 ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจ. นครสวรรค์
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ลุ่มน้ำยมมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,369 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำท่า 6,715 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ปริมาณน้ำท่วมคิดเป็บ 2,021 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงมีเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี ให้สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน – ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างต่อเนื่องซึ่งช่วงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 697 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 140,000 ไร่ โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ. พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 จ. ลำปาง อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ. แพร่ ปตร.ท่านางงาม จ. พิษณุโลก ปตร. ท่าแห จ. พิจิตร ปตร. บ้านวังจิก จ. พิจิตร การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ ปี 2563 จำนวน 500 แห่ง ได้น้ำรวม 24 ล้าน ลบ.ม. และโครงการบางระกำโมเดล
ขณะที่แผนงานโครงการสำคัญที่จะเริ่มดำเนินปี 2566 มีทั้งสิ้น 36 โครงการ สามารถเพิ่มความจุได้ 116 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-กลาง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 234 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเร่งผลักดันแผนการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำในลำน้ำยมตอนบนให้ได้โดยเร็วตามแผนหลักฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากให้ไม่ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับผลกระทบปริมาณฝนที่ตกหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโซนร้อน “ซินลากู” พายุโซนร้อน “ฮีโกส” และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 20 จังหวัด นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีระดับน้ำผันผวนโดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดผลดี มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดย 3 อันดับสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ 1,594 ล้าน ลบ.ม. จ. อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ. กาญจนบุรี 494 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล จ. ตาก 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันอ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวนลดลงจาก 26 แห่ง เหลือ 14 แห่งเนื่องจากฝนตกในที่เดิมซ้ำ ๆ ทำให้เกิดน้ำหลากจุดเดิม แต่ยังไม่มีอ่างขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากกว่า 80% จึงยังคงมีอ่างอีกหลายแห่งที่ต้องการน้ำที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งถัดไปได้.-สำนักข่าวไทย