ระยอง 25 ส.ค. – นาโนเทค สวทช.นำร่องสารเคลือบพื้นผิวรักษาพื้นผนัง ลดการเกิดคราบสกปรก เชื้อรา อนุรักษ์อาคารศาสนสถาน หวังขยายผลเชิงพาณิชย์
น.ส.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง ตรวจเยี่ยม โครงการ “เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน” ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูแล รักษา และอนุรักษ์ของดีที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ หากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นต้องการข้อมูลวิจัย เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของสิ่งปลูกสร้าง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพหรือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารศาสนสถานหรือสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงขยายผลงานวิจัยไปยังวัสดุอื่น เช่น รองเท้า เคลือบสีรถยนต์ เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะนี้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสี ภาคก่อสร้างเริ่มสนใจติดต่อเข้ามาในช่วงปี 2562 ถ่ายทอดผลงาน 39 โครงการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ รวม 30 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3,543 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท
ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนของนาโนเทค กล่าวว่า คุณสมบัติของวัสดุเชิงเคมีเป็นสารเคลือบผิวที่มีคุณสมบัติ กันฝุ่น กันการซึมน้ำ ป้องกันรา ตะไคร่น้ำ คราบสกปรกที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ใช้บูรณะอาคารศาสนสถาน รวมไปถึงช่วยลดการแตกร้าว ทำให้สามารถยืดอายุพื้นผิวและคงความสวยงามของอาคารศาสนสถานได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปรับปรุงพื้นผิวอนุภาคนาโนซิลิกา จึงได้ทดสอบภาคสนามการใช้สารเคลือบต้นแบบ เพื่อเคลือบพื้นผิวของหอระฆัง ณ วัดปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อเดือนธันวาคม 2562
หลังจากที่ทีมวิจัยนาโนเทคนำสารเคลือบผิวนาโนที่พัฒนาขึ้นไปฉีดพ่นรอบหอระฆังและมีการติดตามผลหลังการฉีดพ่นเป็นระยะเวลา 10 เดือน พบว่าสามารถยืดระยะเวลาการเกิดเชื้อรา คราบสกปรก และการแตกลายงา โดยระยะเวลา 10 เดือนนี้ไม่มีเชื้อราหรือคราบตะไคร่น้ำเกิดขึ้นเลย ซึ่งการยืดระยะเวลาการเกิดเชื้อรานี้ ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดใช้ในการบำรุงรักษาอาคารศาสนสถาน เพิ่มความคงทน ยืดอายุวัสดุที่จะนำไปซ่อมแซมบูรณะ และยังช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงเกิดความสวยงามให้กับอาคารศาสนสถานต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อต่อยอดใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ยังสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจ.- สำนักข่าวไทย