กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 จะติดลบ 9.4% จากเดือน เม.ย.63 เคยประเมินว่า จะติดลบ 4.9 ถึงติดลบ 3.4% โควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย มูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลง “ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563” ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอก 2 ในต่างประเทศและยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในไทยและการส่งออกของไทยลดลงอย่างมาก จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะติดลบลงลึกมากขึ้นในระดับลบ 9.4% จากเดือน เม.ย.63 เคยประเมินไว้ว่า จะติดลบ 4.9% ถึงติดลบ 3.4% และในกรณีแย่กว่า จะติดลบ 11.4% ส่วนกรณีดีกว่าจะติดลบ 8.4%
ด้านการส่งออกรูปเงินดอลลาร์ ปี 63 คาดว่า กรณีฐาน จะติดลบ 10.2% กรณีแย่กว่าลบ 12.5% ส่วนกรณีดีกว่าลบ 8.4% ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวกรณีฐาน ลบ 82.3% กรณีแย่กว่าลบ 83% ส่วนกรณีดีกว่าลบ 81.3% จำนวนนักท่องเที่ยวกรณีมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศภายใต้แนวทาง travel Bubble แบบจำกัดขอบเขต คาดว่า จะลดลงเหลือ 6.8 ถึง 7.5 ล้านคน ลดลงจากประมาณการเดือน เม.ย.63 ที่คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 10.7 ถึง 18.2 ล้านคน การคาดการณ์นี้ อยู่บนพื้นฐานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโต ติดลบ 5% จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะติดลบ 3%
ฉะนั้นภาครัฐจะต้องเร่งช่วยเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการทั้งในส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการขับเคลื่อนเงินตาม พรก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด เพราะหากช้าหรือทำได้ไม่ดีพอ จะเห็นภาพการปลดคนงานมากขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่ ต.ค.63 นี้หลังมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ สิ้นสุดลง ดังนั้นในช่วงเดือน พ.ย.63 จะเริ่มเห็นการว่างงานมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ระบุว่า จะเอสเอ็มอี จะมีการทยอยเลิกจ้างงานไปจนถึงสิ้นปีนี้รวม 1.93 ล้านคน และมีโอกาสจะมีการเลิกจ้างมากถึง 2-3 ล้านคนได้ ภายใต้เงื่อนไขว่า ภาคเอกชนไม่ได้ตั้งใจที่จะปลดคนออกจากงาน อย่างไรก็ตาม คาดว่า ไตรมาส 2 ปีหน้า จะมีวัคซีนโควิด-19 ออกมาช่วยให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเป็นเติบโตเป็นบวกได้อีกครั้ง โดยคาดว่า ปี 64 มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเป็นบวกได้ 4-5%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้นับว่า สร้างความเสียหายมากที่สุดในเศรษฐกิจไทย มากกว่าความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท โดย ณ วันนี้ 3 ส.ค.63 โควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว มูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท จากการล็อดาวครั้งแรกมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ อนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเลิกจ้างแรงงานในภายหลัง , เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆเพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจจ้างแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง, พิจารณาขยายมาตรการพักชำระหนี้แบบอัตโนมัติออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนรวมเป็น 12 เดือน ผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เข้าถึงวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ,กลั่นกรองโครงการที่ขอใช้เงินกู้ เงินงบประมาณปี 64 ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่เน้นเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งงานที่ถาวร เพิ่มกำลังซื้อในระบบเช่น มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น, เพิ่มกำลังซื้อในระบบจากคนที่ยังมีกำลัง ด้วยการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคการลงทุนในสินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ เป็นต้น
นางสาวอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลง Chamber Business Poll ธุรกิจ SME หลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-24 ก.ค.63 จำนวน 800 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า 61.7 ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9 % ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2 % ได้รับผลกระทบน้อย ส่วน 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70% ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณีและหัตกรรม ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด 71.1%
เมื่อถามว่า ธุรกิจเดียวกันมีการปลดคนงาน เลิกจ้างบ้างหรือไม่ พบว่า 86.5 % ระบุว่า ไม่มี แต่ 13.5% บอกว่า มีการปลดคนงาน และเลิกจ้าง และโดยเฉลี่ยระบุว่า ในช่วงต่อไปหากยังไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อยมาก จะสามารถประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่า จะประคองกิจการไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น
สำหรับแหล่งเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องในช่วงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบุว่า ใช้แหล่งเงินในระบบอย่างเดียว 62.7% นอกระบบอย่างเดียว 3.4% ส่วนที่ระบุว่า ใช้ทั้งในระบบและนอกระบบ 33.9% สำหรับทัศนะกรณีได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือ ระบุว่า จะสามารถประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการได้โดยเฉลี่ย 10 เดือน แต่ถ้าหากไม่มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเข้ามาช่วยเหลือ ระยะเวลาประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการจะลดเหลือเพียง 6 เดือนเท่านั้น
ส่วนมุมมองผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับเงินกู้ภาครัฐ วงเงิน 400,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่ 85.4% ต้องการให้ช่วยเงินอุดหนุน แนวทางการช่วยเหลือ คือ ปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 57.7% ปลอดดอกเบี้ย 51.0% ภาครัฐจะต้องเร่งช่วยเหลือด้านการเงิน พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้ามาช่วยเหลือ. – สำนักข่าวไทย