กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – ซีไอเอ็มบีไทย หั่นจีดีพีปีนี้ลดลงเหลือโตร้อยละ 3.7 เหตุการลงทุนเอกชนยังโตช้า – เลื่อนเลือกตั้งเป็นปี 62 ห่วงสงครามการค้ากระทบส่งออกไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เหลือเติบโตร้อยละ 3.7 จากเดิมคาดโตร้อยละ 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรับลดจีดีพี คือการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตช้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปีนี้โตเพียงร้อยละ2.5 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.8 ผู้บริโภคชะลอรอดูสถานการณ์ความชัดเจนก่อนใช้จ่ายสินค้าคงทน และคาดการบริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 3.1 จากเดิมร้อยละ 3.4 คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังฟื้นตัวช้า และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอได้
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นในความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ จากแนวโน้มเลื่อนการเลือกตั้งในปีนี้เป็นต้นปีหน้า แต่ยังเชื่อว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมพ ส่วนภาครัฐดำเนินการโครงสร้างขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายไม่ได้เร็วไปกว่าที่คาด โดยการลงทุนภาครัฐโตร้อยละ 10.2 แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความทนทานต่อปัจจัยที่เข้ามากระทบ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอต่ำกว่าร้อยละ 3 และ หวังว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น เร่งการลงทุน เพื่อให้เอกชนลงทุนตาม มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือร้อยละ 4 ได้
นายอมรเทพ กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยปรับการส่งออกปีนี้เป็นเติบโตร้อยละ 7.4 จากเดิมโตร้อยละ 4.5 หลัง 2 เดือนแรกส่งออกโตได้ดีแต่ยังต้องจับตามอง สงคราการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่อาจกระทบต่อการค้าโลกชะลอตัว และกระทบมาถึงการส่งออกของไทย
ทางด้านความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยสำคัญ คือ ความไม่แน่นอนของธนาคารกลางสหรัฐในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังสหรัฐและสงครามการค้าทำให้คนยังไม่เชื่อมั่นดอลลาร์สหรัฐจึงคาดว่าเงินจะไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่เมื่อใดทิศทางการคลังสหรัฐ และ การค้ามีความชัดเจน คนจะกลับไปให้น้ำหนักกับดอกเบี้ยสหรัฐมากขึ้น และ มีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จึงอาจเห็นค่าบาทอ่อนค่าไปแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ในสิ้นปีนี้ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ1.50 โดยปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโต ประกอบกับ เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า .- สำนักข่าวไทย