กรุงเทพฯ 7 ก.ค. – Krungthai COMPASS เผยแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงหนุนเศรษฐกิจไทย แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่รายได้จากกลุ่ม High Spending ช่วยชดเชย คาดรายได้ท่องเที่ยวรวมปี 2568 แตะ 1.74 ล้านล้านบาท แนะรัฐเร่งปลดล็อกอุปสรรค เสริม Soft Power ดึงนักท่องเที่ยวเป้าหมายกลับมา
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป โดยระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในอดีต ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเอง รวมถึงข้อจำกัดด้านเที่ยวบินตรงและการออกวีซ่าที่ใช้เวลานาน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเลือกเดินทางไปยังประเทศอื่นแทน แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนจะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มคุณภาพที่ยังเดินทางเข้ามานั้นยังถือว่ามีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมอาหารไทยและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้คาดว่า ในปี 2568 รายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวแตะระดับ 5.5% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.74 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ที่มีพฤติกรรมใช้จ่ายสูง และมีแนวโน้มเดินทางซ้ำมายังประเทศไทย

นายธนชา คุณศิริวิลาวัณ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า เทรนด์การท่องเที่ยวโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง นักท่องเที่ยวสนใจประสบการณ์เฉพาะถิ่นและสถานที่ใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และกลุ่มอาเซียน ซึ่งต่างมีนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรมไทย อาหารไทย และการเดินทางในลักษณะ Repeat Visitor
Krungthai COMPASS ประเมินว่า กลุ่ม High Spending ซึ่งมีสัดส่วนราว 40-45% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนรายได้ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายกับอาหารมากถึง 50-55% ของค่าใช้จ่ายทั้งทริป โดยเฉพาะอาหารไทยและ Street Food ที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก
ดร.สุรศักดิ์ ศรีขวัญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า แนวทางเพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยวในระยะยาว ควรมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ด้วยการสร้างคุณค่าในประสบการณ์ท่องเที่ยวผ่าน Soft Power ของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการบริหารจัดการด้าน Supply Chain และโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี รายงานระบุถึงอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ ความล่าช้าในการออกวีซ่าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน การขาดเที่ยวบินตรงในบางเส้นทาง และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก ทำให้จุดหมายปลายทางรองยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเพียงพอ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะนำว่า หากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ได้สำเร็จ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมจะยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิด แต่รายได้จะเพียงพอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระดับชุมชนที่สามารถคืนทุนได้เร็ว หากมีการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยพื้นที่หนึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพียง 500–1,000 คนต่อปี ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้. -512-สำนักข่าวไทย