กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำไม่ถึง 2% ยาวไปปีหน้า จากสงครามการค้าไม่แน่นอน-แผลเป็นเศรษฐกิจเรื้อรัง ชี้หากถูกเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐสูงสุด จีดีพีปีนี้อาจหดตัวเหลือ 0.8% คาดปีนี้ กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ระบุงบ 1.57 แสนล้าน ยังไม่พอกระตุ้นเศรษฐกิจ มองขึ้นค่าแรง 400 บาท กลุ่มโรงแรม อาจกระทบรายย่อย แนะเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อความยั่งยืน
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.3% ในปี 2568 และ 2569 ชะลอลงจาก 2.8% ในปีก่อน จากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก มองว่าการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอาจยืดเยื้อ ประกอบกับกระบวนการทางกฏหมายภายในของสหรัฐฯ ต่อประเด็นอำนาจของประธานาธิบดีในการใช้นโยบายภาษีนำเข้า โดยผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนจะรุนแรงและชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความผันผวนในตลาดการเงินจากความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น จากสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่ปะทุขึ้น แม้ในระยะสั้นอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นไม่มากนัก จากอุปทานส่วนเกินที่ยังมีมาก แต่หากความขัดแย้งขยายวงและกระทบต่อแหล่งอุปทานในตะวันออกกลาง ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกได้ โดย SCB EIC ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง (25 bps) ในช่วงปลายปีนี้ และลดดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) ในปี 2569 เนื่องจากยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงจากกำแพงภาษีและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมสู่ระดับ 1%
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปีนี้ปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 100 bps และมีแนวโน้มจะลดอีก 25 bps ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ต่ำลง
สำหรับเศรษฐกิจไทย SCB EIC ยังคงมุมมองประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตต่ำที่ 1.5% และต่อเนื่องถึงปี 2569 ที่ 1.4% จากสงครามการค้า แผลเป็นเศรษฐกิจในภาคครัวเรือนและ SMEs ที่มีอยู่เดิม และข้อจำกัดด้านนโยบายการคลัง โดยเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้จะโตเฉลี่ยต่ำกว่า 1% และมีโอกาสเข้าสู่ Technical recession จากการส่งออกและการลงทุนที่จะแผ่วลง ขณะที่แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวจะน้อยกว่าคาด โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลดลงเหลือ 34.2 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจีนหดตัวและนักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนลง และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจเลือกที่จะชะลอการลงทุน แม้ตัวเลขการอนุมัติการสนับสนุนการลงทุนของ BOI ยังเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ต้องติดตามการเจรจาไทย-สหรัฐ ประเมินว่าหากไทย ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ในอัตราสูงสุด เศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจโตต่ำลงไปถึงระดับ 0.8%
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคครัวเรือนยังอยู่ในช่วงการปรับลดภาระหนี้ที่สูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า (Deleveraging) ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนระมัดระวังในการใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความเปราะบางด้านการจ้างงานและรายได้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมาก และภาวะการเงินที่ยังตึงตัว
ขณะที่แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท แทนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะช่วยเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากขึ้น แต่ผลจะเกิดขึ้นช้ากว่าและยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าแรงส่งเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2569 จะแผ่วลง ขณะที่หนี้สาธารณะมีแนวโน้มติดเพดาน 70% ของ GDP ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดของการเพิ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าหากไม่มีการปฏิรูปด้านการคลังควบคู่ไปด้วย
ด้านเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบ สะท้อนราคาพลังงานที่ปรับลดลงต่อเนื่อง และกำลังซื้อในประเทศที่ยังซบเซา โดยประเมินว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 2 อาจยังติดลบอยู่ก่อนจะทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงสิ้นปี มองเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่องในปี 2569 จากปัจจัยอุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้า ราคาพลังงาน รวมถึงสินค้าเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งนี้ความเสี่ยงจากสงครามในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม โดย SCB EIC ประเมิน กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้เหลือ 1.25% และอาจลดดอกเบี้ยปีหน้าอีก 1 ครั้ง เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง
ดร.ยรรยง กล่าวเพิ่มเติม ถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 400 บาท เพิ่มเติมในพื้นที่ กทม. และจังหวัดอื่น ในกลุ่มกิจการโรงแรมทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับ 2 ดาวขึ้นไป หรือโรงแรม 50 ห้องขึ้นไป และกิจการสถานบริการทั่วประเทศ โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป มองว่าเป็นประโยชน์ แต่จะต้องทำอย่างไรให้แรงงานไทยมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมองว่าผู้ประกอบการรายย่อยอาจได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจรายใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการติดตามผลกระทบของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน.-516-สำนักข่าวไทย