กรุงเทพ 10 เม.ย. – SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยถูกกดดันหนัก จากมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% ของสหรัฐ กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐ หดตัว 8.1 แสนล้านบาท ใน 5 ปี จับตาไทยเจรจาสหรัฐ หลังทรัมป์ ชะลอเก็บภาษี 36% ไป 90 วัน ชี้สหรัฐ-จีนตอบโต้การค้า กระทบไทย ประเมินจีดีพี ปี 68 ต่ำกว่า 2% แนะเอสเอ็มอีเร่งปรับตัว
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวถึง กรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน แต่ภาษีพื้นฐาน ที่เก็บเพิ่ม 10% ยังเก็บต่อไป ยกเว้นประเทศที่จีน ยังมีการตอบโต้กันไม่หยุด ล่าสุดประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 125% จากเดิม 104%
โดย SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยถูกกดดันจากภาษีรอบนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นจะกระทบสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐรุนแรง เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐสูง ส่งออกลดลง ขณะที่ทางอ้อมจะกระทบส่งออกไทยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเช่นกัน ดังนั้นประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อลดการเกินดุลการค้า ก็จะส่งผลให้นำเข้าจากไทยน้อยลง ขณะที่ไทยส่งออกไปจีนลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอลง ดังนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบได้การแข่งขันมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาส่งออกไปสหรัฐฯ มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการส่งออก ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนมาก คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของการนำเข้า ดังนั้น ในระยะข้างหน้า หากไทยเจรจาสหรัฐไม่ได้ หรือเจรจาได้น้อย จะกระทบเศรษฐกิจไทยแน่นอน ขณะที่ยังมีปัจจัยในประเทศ ทั้งนี้ ครัวเรือน ภาคธุรกิจเปราะบาง และการผลิตที่ยังฟื้นตัวช้า แม้ภาครัฐช่วยเหลือค่อนข้างมา แต่มีแนวโน้มจำกัดมากขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นประเมินจีดีพี ปี 2568 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 2% โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง อาจเติบโตได้ในระดับ 1 %
อย่างไรก็ตาม ช่วง 90 วัน ที่ทรัมป์มีการชะลอเก็บภาษี อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้อีก ยังประเมินได้ยาก นอกจากนี้ยังต้องติดตามจีนที่ถูกสหรัฐขึ้น เป็น 125% มองว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ดังนั้นไทยต้องเร่งรับมือผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0 เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผ่านบทบาทเชิงรุกของภาครัฐ ทำควบคู่ไปกับการใช้กฎหมาย พร้อมระบุว่าสงครามการค้าเข้าใกล้ตัวเอสเอ็มอีมากขึ้น
ด้านนางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า ภาคธุรกิจจะถูกกระทบจากนโยบายภาษีศุลกาการตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งทางตรง ทางอ้อมเชิงบวกและลบ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่พึ่งพาสหรัฐสูง และมีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ยางพารา สินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้ง เป็นต้น ขณะที่สินค้าขั้นกลางและขั้นปลาย ถูกกระทบจาก Global Slowdown หรือต้องเจอปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยรุนแรงขึ้น
โดย SCB EIC ประเมินว่า Reciprocal Tariffs ที่ระดับ 36% จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ ลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท เมื่อบังคับใช้ครบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม หลังมีการชะลอการขึ้นภาษี ไป 90 วัน น่าจะมีส่งผลกระทบลดลง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากสงครามกำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งทั้ง 4p ควรทำทันที เพื่อให้มีแต้มต่อในสงครามกำแพงภาษีครั้งนี้เพิ่มขึ้น และใช้วิกฤตครั้งนี้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของไทยให้มีความแข่งแกร่งมากขึ้น.-516-สำนักข่าวไทย